วันเสาร์, 16 พฤศจิกายน 2567

ศิลปกรรมฯ มรภ.สงขลา สร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ “Songkhla Lagoon Connect” พัฒนาผลิตภัณฑ์-ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม พื้นที่ทะเลสาบสงขลา

คณะศิลปกรรมศาสตร์ มรภ.สงขลา สร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ “Songkhla Lagoon Connect” จับมือร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สร้างประสบการณ์เข้าถึงคุณค่าทะเลสาบสงขลาLagoon หนึ่งเดียวในประเทศไทย ภายใต้แนวคิด “Harmony in Diversity หลากหลายแตกต่างอย่างลงตัว

  อาจารย์ชัยวัฒนภัทร เลาสัตย์ รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา บริการวิชาการ และวิเทศสัมพันธ์ เปิดเผยว่า คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ร่วมกับกลุ่ม Songkhla Lagoon Connect ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการในเขตพื้นที่ทะเลสาบสงขลา ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) Creative Economy Agency (Public Organization) ในโครงการ CEA Global OTOP โดยกลุ่ม Songkhla Lagoon Connect ประกอบด้วยผู้ประกอบการจาก ซิงกอรา เกตเวย์ (Singora Gateway) สงขลา สเตชัน (Songkhla Station) อากฤษฏิ์ฟาร์ม (Arkrit Farm) และ บริษัท สงขลาเฮอริเทจ (Songkhla Heritage) มุ่งนำเสนอคุณค่าของพื้นที่ทะเลสาบสงขลาลากูนหนึ่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งเปรียบดังสัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่ง ทั้งในด้านเศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติ และวัฒนธรรมของจังหวัดสงขลา

อาจารย์ชัยวัฒนภัทร กล่าวว่า กลุ่ม Songkhla Lagoon Connect มีแนวคิดในการร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงวัฒนธรรม (Cultural Product) บริการทางวัฒนธรรม (Cultural Service) และพื้นที่วัฒนธรรม (Cultural Space) โดยเน้นการต่อยอดสร้างสรรค์จากฐานทุนทางวัฒนธรรม วิถีชีวิตและธรรมชาติสิ่งแวดล้อมอันอุดมสมบูรณ์ของทะเลสาบ สร้างภาพจำให้คนทั้งโลกได้รู้จักทะเลสาบสงขลาลากูน ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง การสร้างจิตสำนึกความรักและหวงแหนท้องถิ่น เพื่อสร้างโมเดลการพัฒนาพื้นที่ทะเลสาบสงขลาร่วมกันอย่างยั่งยืน โดยระยะแรกริเริ่มจากการเชื่อมโยงพื้นที่ทะเลสาบสงขลาฝั่งบ่อยาง ฝั่งหัวเขา และ เกาะยอ ให้เป็น 3 เหลี่ยมแห่งความอุดมสมบูรณ์ ทั้งเศรษฐกิจ ศิลปวัฒนธรรม และธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ที่สามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ไปพร้อมกับการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม และการดูแลทะเลสาบให้ใสสะอาดโดยชุมชน โดยมีวิสัยทัศน์ของกลุ่มว่า “Songkhla Lagoon Connect” เป็นศูนย์รวมองค์ความรู้และนำเสนอคุณค่าทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต และธรรมชาติสิ่งแวดล้อมของทะเลสาบสงขลา ต่อยอดเชิงพาณิชย์สู่สากล เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและการอนุรักษ์ทะเลสาบสงขลาอย่างยั่งยืนโดยชุมชน

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์และบริการตั้งต้นของกลุ่ม Songkhla Lagoon Connect ต้องการพัฒนาสินค้าและบริการที่สามารถนำเสนอและสร้างประสบการณ์ในการเข้าถึงคุณค่าและเรื่องราวของทะเลสาบสงขลา Lagoon หนึ่งเดียวในประเทศไทย ภายใต้แนวคิด “Harmony in Diversity หลากหลายแตกต่างอย่างลงตัว” เพื่อสร้างภาพจำของทะเลสาบสงขลาแก่ผู้บริโภค โดยกิจกรรมธุรกิจหลักที่จะพัฒนาร่วมกันคือเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกันในพื้นที่ทะเลสาบสงขลา ในชื่อว่า The Treasure of Lagoon เส้นทางขุมทรัพย์แห่งทะเลสาบ โดยคัดสรรคุณค่าอันเป็นอัตลักษณ์สำคัญของพื้นที่ ทั้งทางด้านวิถีชีวิต วัฒนธรรม และธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่งดงาม โดยกิจกรรมการท่องเที่ยวทั้งหมดเกิดจากกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชนหลากหลายกลุ่มในพื้นที่ เช่น กลุ่มชาวประมง กลุ่มแม่บ้านสตรี กลุ่มทอผ้า เป็นต้น เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน 

นอกจากนั้น ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งส่งผลอย่างยิ่งต่อการทำธุรกิจท่องเที่ยว เนื่องจากนักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางมายังทะเลสาบสงขลาได้ ทางกลุ่ม Songkhla Lagoon Connect จึงได้ออกแบบผลิตภัณฑ์ Songkhla Lagoon Treasure Box 1 และ 2 (กล่องขุมทรัพย์แห่งทะเลสาบสงขลา) ซึ่งเป็นเหมือน Teaser ที่ทำให้ผู้บริโภครู้จักทะเลสาบสงขลาได้ แม้ยังไม่สามารถมายังสถานที่จริง ผ่านการคัดสรรผลผลิตจากทะเลสาบที่แสดงถึงอัตลักษณ์สำคัญ โดยแบ่งออกเป็น 2 Box set ได้แก่ Songkhla Lagoon Treasure Box 1 ประกอบด้วย เนื้อปลากะพงขาวรมควันเกาะยอ ไข่ครอบหัวเขา จานเครื่องปั้นดินเผาหัวเขา และผ้าเช็ดปากบาติกลวดลายทะเลสาบ Songkhla Lagoon Treasure Box 2 ประกอบด้วย ชาใบขลู่หัวเขาคั่วมือ คุกกี้ไข่ครอบน้ำตาลโตนด ถ้วยน้ำชาเครื่องปั้นดินเผาหัวเขา และ ชุดที่รองจานและที่รองแก้วผ้าทอเกาะยอลวดลายปลาขี้ตัง

 ภายในBox set ยังแนบแผนที่เพื่อบอกที่ตั้ง รายละเอียดและเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อเป็นการเล่าเรื่องราวทะเลสาบสงขลาผ่านผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ที่อยู่ใน Songkhla Lagoon Treasure Box 1 และ 2 ทุกชิ้น ยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลผลิตจากชาวบ้านในทะเลสาบสงขลา เช่น กลุ่มผู้ผลิตปลากะพงเกาะยอ กลุ่มทอผ้าเกาะยอ กลุ่มแม่บ้านสตรีหัวเขา เป็นต้น ซึ่งนอกจากผู้บริโภคจะได้รับผลิตภัณฑ์ Handmade ที่ผลิตอย่างมีคุณภาพแล้ว ยังเป็นการช่วยส่งเสริมชุมชนและสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ทะเลสาบสงขลา จึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะซื้อไว้ใช้งานเอง หรือใช้เป็นของขวัญของที่ระลึก เพื่อส่งมอบให้คนพิเศษในโอกาสสำคัญ

“เมื่อวิกฤตการณ์โควิด-19 ผ่านพ้นไป ผู้ที่ได้รับรู้เรื่องราวทะเลสาบสงขลาจากผลิตภัณฑ์นี้แล้วเกิดความสนใจ ก็สามารถเดินทางมาท่องเที่ยวตามรอยผลิตภัณฑ์ถึงแหล่งผลิต เรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชุมชนอย่างลึกซึ้ง ผ่านเส้นทางท่องเที่ยว The Treasure of Lagoon เส้นทางขุมทรัพย์แห่งทะเลสาบ ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบขึ้นจึงมีความเชื่อมโยงกัน และสามารถสร้างภาพจำและการรับรู้เรื่องราวของทะเลสาบสงขลาได้เป็นอย่างดี” อาจารย์ชัยวัฒนภัทร กล่าว