วันอังคาร, 24 ธันวาคม 2567

ศอ.บต. ชูภาคประชาสังคม ดึงเยาวชนในพื้นที่ จชต. ร่วมสร้างสรรค์พื้นที่ปลอดภัย ยุคดิจิทัล ให้รู้เท่าทันข่าวลวง (Fake News)

สื่อสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือที่สำคัญในยุคปัจจุบัน และเข้ามามีบทบาทในสังคมเป็นอย่างมากและหลีกเลี่ยงไม่ได้ข้อมูลข่าวสารบนสื่อออนไลน์ มีอยู่มากมายทั้งข้อมูลจริง ข่าวลือ และข่าวลวง เนื่องจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสามารถทำหน้าที่ได้ทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสาร โดยมีสื่อใหม่ (New Media) อาทิ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไลน์ ยูทูป ให้ความรู้และความบันเทิงนอกจากจะเพิ่มความสะดวกในการติดต่อสื่อสารแล้ว ยังมีบทบาทในการกำหนดประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมทั้งด้านบวกและด้านลบ ดังนั้นผู้ใช้สื่อควรตระหนักให้รู้เท่าทันสื่อ และใช้สื่ออย่างมีสติ

ทั้งนี้องค์ภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งองค์กร NM Neo-mind หัวใจดวงใหม่ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กลุ่มกาวัน กีตอ เป็นภาคีเครือข่าย นำเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาร่วมเวทีแลกเปลี่ยนส่งเสริมให้มีเครือข่ายภาคประชาสังคม เพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ภาคใต้ โดยมีกรรมประกอบด้วย Talk Show ให้ความรู้เรื่องการใช้สื่อออนไลน์อย่างเท่าทัน โดยมีตัวแทนเยาวชนที่มีประสบการณ์จากการทำงานด้านสื่อในพื้นที่มาให้ความรู้ กิจกรรมรณรงค์ “seve online world” กิจกรรมแข่งขันประกวดสุนทรพจน์ save online world to กิจ Young 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษามาลายู และภาษาอังกฤษ รวมถึงกิจกรรมการประกวดคลิปสั้น สื่อสร้างสรรค์ และมีการประกาศเจตนารมณ์การยุติการสร้างข่าวปลอม และรู้เท่าทันสื่อ กลุ่มเยาวชนในพื้นที่

นางกนกรัตน์ เกื้อกูล ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. เผยว่า กิจกรรมในครั้งนี้ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการนำเยาวชนในพื้นที่มาแลกเปลี่ยนและให้ความรู้ถึงพิษภัย รวมถึงประโยชน์ของสื่อออนไลน์ ซึ่งเลขาธิการ ศอ.บต.ให้ความสำคัญกับเยาวชนในด้านการศึกษา และใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้าใจ และการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม เนื่องจากปัจจุบันภัยจากสื่อออนไลน์ ในสังคมมีหลายรูปแบบทั้งการ Bully การล้อเลียน การเปิดเผยตัวตนในสื่อ การหลอกลวงทางเพศ การฉ้อโกงเงินโดยใช้สื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือ ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นภัยต่อเด็กและเยาวชนในสังคม ทั้งนี้สื่อไม่ได้ให้โทษเสมอไป หากเรารู้จักใช้อย่างคุ้มค่าและมีประโยชน์ เช่นการค้นคว้าหาข้อมูลด้านการศึกษา การสร้างสัมพันธ์กับเพื่อนทั้งเก่าและใหม่ เป็นต้น อย่างไรก็ดีผู้ที่ผลิตสื่อจะต้องสร้างสรรค์สื่ออย่างมีประโยชน์ต่อกลุ่มเป้าหมายที่รับข้อมูลข่าวสารจากสื่อออนไลน์ เพื่อให้สามารถนำโยชน์จากสื่อมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับตนเองและสังคมต่อไป

นางสาวรอฮานี ดาโอ๊ะ ประธาน NM Neo-Mind หัวใจดวงใหม่ ให้สัมภาษณ์ว่า อยากให้เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการตระหนักการแบ่งเวลาในการเสพสื่อออนไลน์ให้เหมาะสม มีการจัดสรรเวลาให้กับเรียน การเข้าสังคมอื่นๆ มีเวลาให้กับพ่อแม่และครอบครัว รวมถึงการเลือกใช้สื่อที่ถูกต้อง พิจารณาตามความเหมาะสมของเพศและวัยในการเสพสื่อของเยาวชน รวมถึงเป็นต้นแบบในการผลิตสื่อสร้างสรรค์ให้กับสังคมสร้างความเข้าใจและเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ด้านนางสาวญาณิดา อุดมศักดิ์ ตัวแทนนักเรียนจากโรงเรียนศาสน์สามัคคี อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ให้สัมภาษณ์ว่า สื่อออนไลน์เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นมากสำหรับปัจจุบัน ทั้งในส่วนของการค้นหาข้อมูลด้านการศึกษาหรือใช้เพื่อความบันเทิงซึ่งอดีตนั้นตนเป็นเด็กติดเกมมาก ทำให้ส่งผลกระทบต่อตนเองและครอบครัว รวมถึงการเรียนตกต่ำ จนตนต้องมานั่งคิดและหันมาใช้สื่อออนไลน์ให้มีประโยชน์มากขึ้น ทำให้เรามีเวลาใกล้ชิดกับคนในครอบครัว ดังนั้นจึงขอฝากให้เด็กและเยาวชนได้ใช้สื่อออนไลน์อย่างมีสติ และถูกต้องใช้สื่ออย่างถูกวิธีก็จะเกิดประโยชน์กับเราต่อไป

อย่างไรก็ตาม ศอ.บต.ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการพัฒนาพื้นที่ การสร้างภาพลักษณ์ และสร้างความเข้าใจทั้งในและต่างประเทศเป็นภารกิจที่สำคัญที่จะขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนา โดยเริ่มต้นจากเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งกิจกรรมเวทีแลกเปลี่ยนส่งเสริมให้มีเครือข่ายภาคประชาสังคม เพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ภาคใต้ ถือว่าเป็นกิจกรรมที่นำเยาวชนในพื้นที่มาสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในการใช้สื่อออนไลน์นำเสนอ และสื่อสารเรื่องๆ ดีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงให้สามารถรู้เท่าทันสื่อ สามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ ต่อสภาพแวดล้อมของเด็ก และเยาวชน ตลอดจนผู้ใช้สื่อ ผู้ผลิตสื่อให้สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นำไปสู่การนำเสนอในพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ต่อไป