วันพฤหัสบดี, 26 ธันวาคม 2567

ศปป.5 กอ.รมน. พร้อมคณะสื่อมวลชนเยี่ยมให้กำลังใจ ชมรมผู้นำมุสลีมะห์นราธิวาส หนุนเสริมการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา ให้คำปรึกษา เพื่อพัฒนาศักยภาพบทบาทของสตรีและเยาวชนยุติความรุนแรงนำพาสันติสุขสู่พื้นที่

วันนี้ ( 15 พฤศจิกายน 2567) เวลา 09.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส “ศูนย์ให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรีจังหวัดนราธิวาส” พลโท สุรเทพ หนูแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ผอ.ศปป.5 กอ.รมน.) จัดกิจกรรมนำทัพสื่อมวลชนสัมพันธ์ เสริมสร้างคุณภาพชีวิต ครั้งที่ 3/2567 เข้าเยี่ยมให้กำลังใจ กลุ่มสตรีมุสลีมะห์นราธิวาส โดยมี นางซารีนา เจ๊ะเลาะ ประธานชมรมผู้นำมุสลีมะห์ นราธิวาส ให้การต้อนรับพร้อมสรุปผลการขับเคลื่อนงานและปัญหาข้อขัดข้อง

โอกาสนี้ พลโท สุรเทพ หนูแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เปิดเผยการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอ ของจังหวัดสงขลา พร้อมชื่นชมในความเสียสละเพื่อส่วนรวมที่ศูนย์ให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรีจังหวัดนราธิวาส มีผู้นำเป็นสตรี เป็นภรรยา และเป็นมารดา ของบุตรหลานในพื้นที่ ขอบคุณสตรีทุกท่านที่กล้าขึ้นสู้ ร่วมสร้างความสวยงามและสร้างสันติสุขในพื้นที่ เนื่องจากปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากครอบครัว และนำมาซึ่งความรุนแรง ฉะนั้น เมื่อครอบครัวมีความรุนแรง ชุมชนก็จะมีความรุนแรง และส่งผลทำให้สังคมและจังหวัดนั้นมีความรุนแรงตามไปด้วย พร้อมย้ำว่า รัฐบาลมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ ต้องการยุติความรุนแรง และก้าวข้ามความขัดแย้งให้ได้ และกิจกรรมเชิญสื่อมวลชนสัญจรครั้งนี้มุ่งหมายให้รับทราบข้อมูล ได้สัมผัสด้วยตา ให้สามารถในไปสื่อสาร บอกต่อในข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับพื้นที่ และนับเป็นก้าวแรกที่นำไปสู่ความสำเร็จของการยุติความรุนแรงในอนาคต ยืนยันในฐานะหน่วยงานความมั่นคงพร้อมอำนวยความสะดวกและสนับสนุนทุกภารกิจของศูนย์ให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรีจังหวัดนราธิวาส เมื่อได้รับการร้องขอ เพื่อร่วมบูรณาการสร้างพื้นที่ให้สงบ บ้านเมืองน่าอยู่ นำสันติสุขกลับสู่พื้นที่อย่างมั่นคง ยั่งยืน

ด้าน นางซารีนา เจ๊ะเลาะ ในฐานะประธานชมรมผู้นำมุสลีมะห์นราธิวาส ระบุว่า กว่า 20 ปี พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พบความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นต่อเนื่อง และมีสตรีที่ประสบปัญหา ต้องช่วยเหลือกว่า 3,000 เคส แต่สตรีที่มีปัญหาเหล่านี้ จะไม่กล้าไปปรึกษากับผู้นำชุมชนหรือผู้นำทางศาสนาซึ่งเป็นผู้ชาย ดังนั้น บทบาทการให้คำปรึกษาในด้านนี้ จึงอยู่ที่ภรรยาของคณะกรรมการอิสลาม ปัจจุบันได้วางแนวทางแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมมากขึ้น เช่น การสร้างเครือข่ายศูนย์ให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรีไปยังระดับชุมชนกว่า 22 ศูนย์ ครอบคลุมพื้นที่ 13 อำเภอของจังหวัดนราธิวาส เพื่อช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด และลดค่าใช้จ่ายให้สตรีที่ประสบปัญหา เช่น ค่าใช้จ่ายเดินทางเข้ามายังศูนย์หลักฯ ,จัดตั้งศูนย์พักพิงให้สตรีที่ถูกทำร้ายได้หลบจากปัญหาดังกล่าว นอกจากนี้ทางศูนย์ฯได้พัฒนาศักยภาพด้านอาชีพจาก “น้ำพริกบูดู” เสริมรายได้แก่ตนเองครอบครัวและชุมชน