วันอังคาร, 24 ธันวาคม 2567

ศปป.5 กอ.รมน. นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ จชต. ขับเคลื่อนการศึกษา เน้นสร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างคน สร้างอาชีพ กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างมั่นคงยั่งยืน

วันนี้ (14 พฤศจิกายน 2567) เวลา 14.00 น. พลโท สุรเทพ หนูแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร นำคณะสื่อมวลชนส่วนกลาง ลงพื้นที่มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส เพื่อติดตามผลสัมฤทธิ์การยกระดับการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

โดย พลโท สุรเทพ หนูแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ระบุว่าประชาชนและเยาวชนในพื้นที่หากได้รับการศึกษา มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ในข้อเท็จจริงที่ชัดเจน และเห็นภาพที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม เช่น การมาเรียนแล้วจบการศึกษาควรไปต่อตรงไหน ตรงความต้องการของตลาด หรือมีอาชีพรองรับ ความมั่นคงยั่งยืนก็จะเกิดขึ้นทันที พร้อมย้ำว่า “การศึกษา” คือพื้นฐานชีวิต เพราะไม่เพียงแต่เป็นการถ่ายทอดความรู้ ทักษะจำเป็นทางวิชาการเท่านั้น แต่ยังช่วยเสริมสร้างความเข้าใจทางวัฒนธรรม ความเห็นอกเห็นใจ สามารถทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และในทุกปัญหา ส่วนใหญ่เกิดจากการรับข้อมูลที่บิดเบือน ยืนยันสื่อมวลชนเป็นอีกหนึ่งกลไกหลักของการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็ว ถูกต้อง สู่สายตาประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่ รวมถึงต่างประเทศ ได้รับทราบถึงภารกิจ กิจกรรมที่หน่วยงานความมั่นคง ภายใต้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พยายามปฏิบัติภารกิจเพื่อประชาชน ชุมชน ได้มีความกินดี อยู่ดี เชื่อมั่นว่าอนาคตการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องสำเร็จได้อย่างแน่นอน เพราะการศึกษาเป็นกุญแจสำคัญที่เปิดโอกาสในการเติบโตทางสังคม และเศรษฐกิจให้กับบุคคล ส่งผลให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ ปรีชา สะแลแม อธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยฯ ดำเนินการตามเจตนารมณ์ดั้งเดิม ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง เน้นการสร้างโอกาสให้กับเยาวชน และคนในพื้นที่ ได้มีโอกาสเข้าสู่ระบบการศึกษาให้มากที่สุด ที่ผ่านมาได้สร้างโอกาสให้คนในพื้นที่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษา ทั้งในระดับอุดมศึกษาและต่ำกว่าระดับปริญญา โดยหลักสูตรที่เปิดสอนจะต้องเป็นหลักสูตรสมัยใหม่ ตอบสนองความต้องการของยุคปัจจุบัน เช่น ช่างเทคนิคอากาศยาน ช่างเทคนิคด้านระบบราง ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV แพทย์ พยาบาล วิศวกร ทั้งนี้ เมื่อมีหลักสูตรที่ทันสมัยแล้ว ก็จะต้องมีอาชีพที่รองรับหลังจบการศึกษาด้วย ยืนยันเมื่อมีอาชีพ ก็จะเกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ เกิดความมั่นคงในครอบครัว ซึ่งบุคคลเหล่านี้ก็จะเติบโตไปสนับสนุนคนรุ่นต่อ ๆ ไป และครอบครัว ให้มีโอกาสเข้าสู่ระบบการศึกษามากขึ้น ควรคู่การได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนต่อไป

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยในพื้นที่ชายแดนใต้ นับเป็นการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาที่เพิ่มโอกาศทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาแก่ประชาชนในพื้นที่และประหยัดงบประมาณของประเทศในการสูญเสียดุลการค้าระหว่างประเทศแล้วยังเป็นการช่วยเสริมสร้างเอกภาพ ความมั่นคงของชาติ เชื่อมโยงการศึกษากับศาสนาเข้าสู่ชีวิตของประชาชนชาวมุสลิม ก่อให้เกิดความรัก ความผูกพัน สำนึกรับผิดชอบต่อสังคม วัฒนธรรมและประเทศชาติอย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน รวมทั้งเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างรัฐและประชาชนชาวมุสลิมให้เกิดความรัก สามัคคี ลดความขัดแย้งทางสังคมและการเมือง ลดการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้หมดไป