วันอาทิตย์, 17 พฤศจิกายน 2567

ลาดตระเวนทางอากาศ เน้นย้ำเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยแนวชายแดน ไทย – มาเลเซีย ห้วงเดือนรอมฎอน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2567 เวลา 13.40 น. ที่ฐานปฏิบัติการชุดป้องกันชายแดน กองร้อยป้องกันชายแดนที่ 2 ตำบลโละจูด อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส พลตรี เฉลิมพร ขำเขียว ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 / ผู้บังคับกองบังคับการควบคุมสุริโยทัย /ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส พร้อมด้วย พันเอก ทรงเดช สุกนุ้ย รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส เดินทางมาตรวจเยี่ยม ติดตามผลการปฏิบัติงาน ของกองร้อยป้องกันชายแดนที่ 2 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาความมั่นคงตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย โดยได้เน้นย้ำกำชับการวางกำลังป้องกันชายแดน หลังเกิดการก่อเหตุในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เพื่อควบคุมการหลบหนีออกนอกพื้นที่ ของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง พร้อมทั้งเพิ่มมาตรการควบคุมพื้นที่ตามช่องทางท่าข้ามธรรมชาติ โดยวิเคราะห์ข้อมูลจากการเตรียมสนามรบด้านการข่าว (IPB) ของหน่วย, ผลการซักถาม และสถิติการหลบหนีออกนอกพื้นที่ของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในห้วงที่ผ่านมา และการปฏิบัติงานร่วมกันกับทุกภาคส่วนในการบังคับใช้กฎหมายตามแนวชายแดน ไทย – มาเลเซียอย่างเข้มงวด พร้อมทั้งสั่งการ ชุดปฏิบัติการจรยุทธ์ ทำการลาดตระเวนพิสูจน์ทราบ และซุ่มเฝ้าตรวจ ตามแผนเชิงรุกในรูปแบบการลาดตระเวนเพื่อควบคุมพื้นที่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบหมู่บ้าน Support site รวมไปถึงพื้นที่ จุดเสี่ยง / จุดล่อแหลมต่าง ๆ เพื่อเป็นการจำกัดเสรีความพยายามในการปฏิบัติของฝ่ายตรงข้ามที่อาจจะลักลอบเข้ามาก่อเหตุสร้างสถานการณ์ในห้วงวันสำคัญทางศาสนาได้อีก และเพื่อเป็นการรักษาความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่

ทั้งนี้ พลตรี เฉลิมพร ขำเขียว ผู้บังคับกองบังคับการควบคุมสุริโยทัย ได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ ลาดตระเวนทางอากาศ ควบคุมพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย ตั้งแต่ อำเภอตากใบ อำเภอสุไหงโก-ลก และอำเภอแว้ง ด้านจังหวัดนราธิวาส เพิ่มความเข้มข้น กำชับดูแลหน่วยที่ตั้ง หน่วยงานราชการเป็นกรณีพิเศษ เพื่อป้องกันกลุ่มก่อความไม่สงบก่อเหตุ มาลักลอบก่อเหตุสร้างสถานการณ์ในห้วงวันสำคัญทางศาสนา ตลอดจนการลาดตระเวนรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อให้ความปลอดภัยชีวิต ทรัพย์สินประชาชน และไม่ประมาทต่อสถานการณ์โดยเด็ดขาด มุ่งเน้นการบูรณาการ ทั้งกำลัง เครื่องมือที่มีอยู่และแผนการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องในทุกมิติ ในการปฏิบัติ

ทั้งเชิงรุกและเชิงรับ ทั้ง ทางบก ทางน้ำ และ ทางอากาศ ครอบคลุมใน 3 พื้นที่หลัก คือ พื้นที่ทางลึก พื้นที่ตามแนวชายแดน พื้นที่ตอนใน ซึ่งในพื้นที่ตอนใน รวมหมายถึง พื้นที่ป่าภูเขา พื้นที่ป่าพรุพื้นที่เมืองเศรษฐกิจ รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพงานด้านการข่าวและบูรณาการฐานข้อมูลด้านความมั่งคง ทั้งนี้เพื่อให้การควบคุมพื้นที่ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดการบูรณาการกำลังตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง ให้เตรียมความพร้อมในทุกๆด้าน ทั้งความพร้อมด้านสถานที่ การรักษาความปลอดภัยทุกเส้นทาง รวมถึงการจัดการจราจรให้มีผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด และการอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ เพื่อไม่ให้มีข้อบกพร่อง และเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ในการนี้ ได้มอบเครื่องอุปโภค – บริโภค เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่กำลังพลต่อไป