วันอาทิตย์, 19 มกราคม 2568

ร้อนอยู่แล้ว! ต้มคนไทยได้ลงคอ! “กรณ์” จวกยับ ค่าไฟแพงมหาโหด ยกหลักฐานตัวเลขมัด รัฐจงใจเข้าข้างนายทุน เอาเปรียบประชาชน

วันที่ 25 มีนาคม 2566 ที่อาคารตลาดหลักทรัพย์ รัชดาภิเษก นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย 3 ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขตเศรษฐกิจชั้นใน ได้แก่ นายวรนนท์ อัศวกิตติเมธิน เขตสาทร ปทุมวัน ราชเทวี นายปรัชญา อึ้งรังษี เขตยานนาวา บางคอแหลม และ นายปรินต์ ทองปุสสะ เขตวัฒนา คลองเตย ร่วมกันแถลงข่าว กรณีจะมีการขึ้นค่าไฟฟ้าในเดือนพฤษภาคมนี้ ว่า ทุกคนรู้ดีว่าในช่วงหน้าร้อนคนไทยใช้ไฟเพิ่มสูงมากกว่าปกติ ค่าไฟโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นพีคทุกครัวเรือน แต่รัฐยังประกาศจะขึ้นค่าไฟ ถือเป็นการซ้ำเติมประชาชน

นายกรณ์ กล่าวว่า พรรคชาติพัฒนากล้า เราต่อสู้เรื่องนี้มาตลอด โดยเฉพาะการแก้ปัญหาสินค้าราคาแพง ซึ่งหนึ่งในต้นตอสำคัญทำให้สินค้าราคาสูงขึ้นคือ ต้นทุนพลังงาน เราเสนอแนวนโยบายที่ชัดเจนที่จะแก้ปัญหา คือต้องรื้อโครงสร้างพลังงาน แต่ล่าสุดสิ่งที่ทำให้เราตกใจมาก กับการประกาศขึ้นค่าไฟฟ้า ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – สิงหาคม โดย สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งพิจารณาภายใต้นโยบายที่ส่งต่อมาจาก คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีมติจะปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในภาคครัวเรือนจากหน่วยละ 4.72 บาท เพิ่มเป็นหน่วยละ 4.77 บาท แต่กลับ ลดราคาให้ภาคอุตสาหกรรมจากหน่วยละ 5.33 บาท ลดลง เหลือ 4.77 บาท

อดีต รมว.คลัง กล่าวต่อว่า สาเหตุของการปรับค่าไฟฟ้าครั้งนี้คือ การปรับค่าเอฟที โดยภาคประชาชนมีการปรับค่าเอฟทีขึ้น 5% แต่กลับลดให้ภาคอุตสาหกรรมคิดเป็น 30กว่า% จากตัวเลขดังกล่าว พวกเราเห็นแล้วถึงกับอึ้งกับแนวนโยบายการกำหนดค่าไฟแบบนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชน แต่กลับลำเอียงเข้าข้างภาคอุตสาหกรรมมากเกินไป

นอกจากนี้ เรายังไม่เห็นตรรกะความจำเป็น ที่ต้องปรับค่าไฟแบบนี้ เพราะหากดูตามข้อเท็จจริง ต้นทุนหลักของการผลิตไฟฟ้า คือ ราคาก๊าซ LNG ในอดีต เราไม่เดือดร้อนมากเพราะสามารถใช้ก๊าซจากอ่าวไทยได้ แต่ปัจจุบันปริมาณก๊าซในอ่าวไทยลดลง เราจึงต้องนำเข้าก๊าซ LNG ซึ่งราคาก็ลดต่ำลงเรื่อย ๆ จากที่พีคสุด 70 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ลดลงเหลือ 11 เหรียญ ต่อล้านบีทียู หรืออย่างมากไม่เกิน 30 เหรียญต่อล้านบีทียู

คำถามคือแล้วทำไมต้องปรับเพิ่ม หรือถ้ามองในมิติของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งท่านก็ทราบว่าการนำเข้า บาทยิ่งแข็งยิ่งทำให้สามารถนำเข้าในอัตราที่ถูกลง และปัจจุบันค่าเงินบาทก็แข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมาอยู่ในระดับ 34 บาท ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นปัจจัยของต้นทุนก๊าซ หรืออัตราแลกเปลี่ยน ก็ล้วนแต่มีภาระลดลง

“ผมขอตั้งคำถาม เหตุใด กพช. จึงมีนโยบายไปที่ กกพ. ให้มีขึ้นค่าไฟฟ้าภาคครัวเรือน แต่ไปลดในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะช่วงนี้ประชาชนเดือดร้อนอยู่แล้ว เนื่องจากเข้าสู่ฤดูกาลที่ร้อนจัด การใช้ไฟก็เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว และจะพีคสูงสุดในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม มันจึงไม่ใช่จังหวะที่เหมาะสม ที่จะเพิ่มภาระให้กับพี่น้องประชาชน ในขณะที่เขามีความจำเป็นต้องใช้ไฟ ดังนั้น อุตสาหกรรมพลังงาน ตั้งแต่วิธีการคำนวณต้นทุนพลังงาน ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ค่าการกลั่น ต้องรื้อใหม่ทั้งหมด พรรคชาติพัฒนากล้าเราต่อสู้แทนประชาชนมาโดยตลอด วันนี้ยังไม่สายเกินไป กพช. ควรปรับมติของ กกพ. เพื่อไม่เป็นภาระต่อประชาชน” หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าว

นายกรณ์ ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า กระบวนการสำคัญก่อนที่จะประกาศขึ้นค่าไฟฟ้าคือ ต้องฟังความคิดเห็นของประชาชน แล้วเชื่อไหม ทาง กกพ. แจ้งว่าได้ฟังความเห็นของประชาชนแล้ว และบอกว่าประชาชนที่เห็นด้วยกับการขึ้นไฟมากกว่าคนไม่เห็นด้วยถึง 3 เท่า มันน่าเชื่อไหมว่า ประชาชนจะเห็นด้วยกับการขึ้นค่าไฟฟ้า ตนขอยืนยันว่าภาระเรื่องของค่าครองชีพของประชาชนเวลานี้หนักหนาสาหัสมาก

เราพบปะพี่น้องประชาชน ส่วนใหญ่ขอให้เราช่วยเรื่องค่าครองชีพ ของแพง ซึ่งมีสาเหตุมาจากต้นทุนพลังงาน เพราะฉะนั้นอย่าซ้ำเติมประชาชน และอย่าเข้าข้างนายทุนในระดับที่ประชาชนต้องเดือดร้อน อย่างไรก็ตามตนเห็นด้วยที่จะลดต้นทุนให้ภาคอุตสาหกรรม แต่ต้องไม่ใช่การเพิ่มภาระให้กับประชาชนแบบนี้ มันไม่ใช่แนวทางบริหารเศรษฐกิจของพรรคชาติพัฒนากล้า เพราะถือเป็นการต้มประชาชนครั้งใหญ่