วันพุธ, 20 พฤศจิกายน 2567

รอง ผอ.รมน.ภาค 4 สน. เป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรมขับเคลื่อนธรรมนูญหมู่บ้าน 9 ดี (ฮูกุมปากัต) ให้กับผู้นำศาสนาในพื้นที่ จชต.

วันนี้ (17 สิงหาคม 2567) เวลา 09.30 น. ที่ โรงแรมลากูน่า แกรนด์ โฮเทล แอนด์ สปา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา พลโท ปราโมทย์ พรหมอินทร์ แม่ทัพน้อยที่ 4 / รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า / ผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธี เป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรมขับเคลื่อนธรรมนูญหมู่บ้าน 9 ดี (ฮูกุมปากัต) ให้กับผู้นำศาสนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการชูรอ “แนวทางการปลูกฝังยะกีน” ของผู้นำศาสนาระดับสูงในพื้นที่ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 – 17 สิงหาคม 2567 โดยมี นายเสรี ศรีหะไตร,นายศักดิ์กรียา บิลแสละ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา, พันเอก ปฐพี พุทธผล ผู้อำนวยการกองสันติวิธี ศูนย์สันติวิธี, ผู้บังคับบัญชา กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า,นายกสมาคมสถาบันปอเนาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ ,คณะกรรมการสมาคมฯ และส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมฯ

โอกาสนี้ พลโท ปราโมทย์ พรหมอินทร์ ได้กล่าวว่า “จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น รัฐบาลได้กำหนดนโยบายยุทธศาสาตร์ชาติ 20 ปี สิ่งที่สำคัญ คือ การปลูกฝังอุดมการณ์และความคิดยึดเหนี่ยวจิตใจ ให้มีความรักชาติ สถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ซึ่งในปัจจุบันกลุ่มผู้ไม่หวังดี ได้บ่มเพาะให้สภาพสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่แต่ก่อนมีความงดงามทุกศาสนามีความสงบสุข ต่างกันเพียงแค่การปฏิบัติทางศาสนา ทั้งนี้ ผู้ไม่หวังดีได้นำประเด็นศาสนามาบิดเบือนจนเกิดบาดแผลให้กับพื้นที่ หากทุกคนช่วยกัน เชื่อว่าจะสามารถกลับคืนมาสงบสุขได้โดยนำหลักศาสนาอิสลามที่บริสุทธิ์มาทำเป็นฮูกุมปากัต ปัญหา คือ ผู้ไม่หวังดีได้ใช้พื้นที่หมู่บ้าน ชุมชนในการบ่มเพาะ ซึ่งเป็นความโชคดีของพี่น้องมุสลิมที่มีมัสยิด, อิหม่าม, ผู้นำศาสนา,คณะกรรมการอิสลาม, สถาบันปอเนาะ และโรงเรียนตาดีกา ที่จะได้ร่วมกับขับเคลื่อนฮูกุมปากัต กฎ 9 ด้าน 9 ดี ซึ่งในอนาคตเชื่อว่า หากทุกส่วนมาร่วมกันจะเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ในการสร้างพื้นที่ให้สันติสุขได้”

โดยธรรมนูญหมู่บ้าน 9 ดี (ฮูกุมปากัต) กำหนดขึ้นจากการชูรอร่วมกันของทุกภาคส่วนภายใต้การรับรอง โดยศูนย์ประสานงานสำนักจุฬาราชมนตรีประจำภาคใต้ สมาคมสถาบันการศึกษาปอเนาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสมาพันธ์กรรมการอิสลามจังหวัดชายแดนใต้ ที่ประชาชนในพื้นที่ให้การยอมรับ เสมือนเป็น พันธสัญญาให้ทุกคนยึดถือปฏิบัติเป็นวิถีชีวิต เพื่อทำให้หมู่บ้านเกิดสันติสุขอย่างมั่นคงเป็นการพึ่งพาตนเองพึ่งพาซึ่งกันและกัน และถือว่าเป็นไปตามหลักคำสอนและข้อตกลง ที่ได้รับความเห็นชอบร่วมกันของสมาชิกในหมู่บ้าน ด้วยกระบวนการขับเคลื่อนธรรมนูญหมู่บ้าน 9 ดี (ฮูกุมปากัต) ให้เกิดเป็นรูปธรรม เกิดประโยชน์สูงสุดในการขับเคลื่อนการดำเนินงานไปสู่ชุมชนของตัวเองและใช้มัสยิดเป็นศูนย์กลางในการแก้ไขปัญหาของชุมชน ภายใต้หลักศาสนาที่ถูกต้อง ซึ่งจะนำสันติสุขกลับคืนมาอย่างยั่งยืน