วันนี้ (10 เมษายน 2567) เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี พลโท ปราโมทย์ พรหมอินทร์ แม่ทัพน้อยที่ 4 / รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า / ผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธี เป็นประธานปิดอบรมเชิงปฏิบัติการ “ทบทวนงานด้านการเมือง และภาคประชาสังคม” เพื่อหน่วยงานความมั่นคงได้ทบทวนการปฏิบัติหน้าที่ พร้อมนำความผิดพลาดเป็นบทเรียน และปรับการทำงานให้ดียิ่งขึ้น ให้พร้อมรับมือทันสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-10 เมษายน 2567 โดยมีผู้แทนจากสำนักอำนวยการข่าวกรอง และ สำนักอำนวยการ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า จำนวน 54 นาย ร่วมกันระดมแนวคิดแลกเปลี่ยนความรู้ผ่านการแบ่งกลุ่ม Work-Shop วิเคราะห์ตัวแสดงที่มีบทบาทอิทธิพลต่อปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความเข้าใจ และร่วมกันวิเคราะห์ประเด็นการเมือง และภาคประชาสังคม ร่วมกันจากวิทยากรพิเศษที่บรรยายให้ความรู้งานด้านการเมืองและภาคประชาสังคมระดับโลก ,นานาชาติ , ระดับชาติ และระดับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
โดย พลโท ปราโมทย์ พรหมอินทร์ ระบุว่าผู้รับการอบรมทุกคนล้วนแต่เป็นผู้มีองค์ความรู้ มีแนวคิดใหม่ๆ สามารถวางกรอบกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ แม้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและกาลเวลา แต่แนวคิดและนโยบายยังคงอยู่ ซึ่งเราทุกคนล้วนต้องการพิชิตหัวใจแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไรให้เกิดสันติสุขยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกล่าวขอบคุณผู้รับการอบรมที่มองเห็นปัญหาอย่างถ่องแท้ รวมทั้งรู้ถึงปัญหาแทรกซ้อนอื่นๆ ร่วมระดมสมอง ตั้งแต่การยกตัวอย่างปัญหา อธิบายวิธีแก้ไข ภายใต้กรอบนโยบาย และการปฏิบัติจริง นำจุดด้อย จุดแข็งของการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาพื้นที่มาปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การปฏิบัติให้ดียิ่งขึ้น ทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตามสภาพแวดล้อมปัจจุบัน รู้ทันแนวคิด ยุทธศาสตร์ของกระบวนการที่เปลี่ยนไปอย่างไร กลุ่มไหนบ้าง และพวกเราได้ข้อสรุปในการต่อสู้ทางการเมืองมีศักยภาพที่สูงขึ้น การต่อสู้ด้วยการใช้อาวุธเป็นเพียงแค่การหล่อเลี้ยงของการ ลดความเชื่อมั่นของเจ้าหน้าที่เท่านั้น เพราะประชาชนในพื้นพื้นที่ล้วนแต่ไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรงในพื้นที่ พร้อมกล่าวชื่นชมในข้อเสนอแนะ และการอธิบายการดำเนินงาน ล้วนเป็นเหตุเป็นผลน่าเชื่อถือของทั้ง 5 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มเยาวชน, กลุ่มผู้นำสี่เสาหลัก, กลุ่มประชาชนทั่วไป, กลุ่มผู้เห็นต่าง และกลุ่มนักการเมือง เชื่อมั่นว่าถ้าเรามีการร้อยเรียงหัวใจหลักของการอบรมฯ อีกทั้งมีข้อเสนอแนะชัดเจน นำไปสู่การบันทึกเป็นเอกสารฉบับสมบูรณ์ เราก็จะเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น เห็นทั้งสภาพปัญหาของกลุ่มขบวนการและปัญหาของพวกเราควบคู่การนำทุกแนวคิด ทุกแนวนโยบายที่ผ่านมาทบทวน หากสิ่งไหนดีอยู่แล้วทำต่อไป สิ่งไหนผิดพลาดนำเป็นบททดสอบและเรียนรู้ปรับให้ดียิ่งขึ้น ให้สามารถสานต่อได้อย่างเป็นระบบตรงความต้องการของพี่น้อง ประชาชนในพื้นที่ เพื่อนำพาสันติสุขกลับสู่พี่น้องจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน
ด้าน พันโท สุริยะ สัมพันธรัตน์ ผู้บังคับชุดควบคุมที่ 951 หน่วยเฉพาะกิจสันติสุข หนึ่งในตัวแทนกลุ่มผู้รับการอบรมฯ เปิดเผยว่าภาพรวมสถานการณ์ปัจจุบันเยาวชนบางกลุ่มยังมีแนวความติดเห็นต่างจากรัฐ โดยหน่วยงานภาครัฐต้องบูรณาการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชน ผู้ปกครอง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันด้านองค์ความรู้ ความเข้าใจ และพัฒนาระบบการคิด การค้นหาคำตอบที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของเหตุและผลเกี่ยวกับสถานการณ์ความเป็นจริงแก่เยาวชนในพื้นที่ ส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันบทบาทการมีส่วนร่วมการตัดสินใจเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง พร้อมนำโมเดลการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบล ให้ครอบคลุมทุกตำบลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งใหม่ พร้อมส่งเสริมศักยภาพและทักษะให้เติบโตสมวัย สนุกและแข็งแรงตามหลักสูตรการศึกษาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ เพิ่มโอกาส ความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ ควบคู่การเรียนรู้ภาษา วัฒนธรรม วิถีชีวิตในสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างทั่วถึงเท่าเทียมในผู้เรียนทุกคนทั้งไทยพุทธและไทยมุสลิม มีผู้ปกครองทำหน้าที่ดูแล หรือเป็นครูเฉพาะกิจ เพื่อกระตุ้นส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับบุตรหลานตนเอง ภายใต้การขับเคลื่อนตามหลักฮูกุมปากัต หรือ ธรรมนูญหมู่บ้าน 9 ดี ขณะเดียวกันทุกภาคส่วนต้องบูรณาการด้านการศึกษาทั้งระดับปฐมวัย และมัธยมศึกษา เพื่อคัดเด็กมีศักยภาพ เรียนดี ร่างกายแข็งแรง สร้างทัศนคติที่ดีต่อเด็ก ขับเคลื่อนอนาคตของชาติ โดยใช้หลัก Premium Cam “พรีเมี่ยม แคมป์” จัดทัศนศึกษานอกห้องเรียน พร้อมยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน การจัดกิจกรรมลูกเสือในสถานศึกษา นำลูกเสือบำเพ็ญประโยชน์ จิตอาสา ช่วยเหลือสังคม สร้างทักษะให้ช่วยเหลือตนเอง และผู้อื่นได้ ตามพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 สำหรับระดับอุดมศึกษาควรจัดให้ มีกิจกรรมเสวนาให้ภาคประชาชนทั่วไปมีเวทีกลางในการพูดคุยระดับพื้นที่ ให้เยาวชนได้มีความคิดในการพิจารณาเหตุผล เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ร่วมสร้างสรรค์สังคมสมานฉันท์ ลดการใช้ความรุนแรงโดยการสนับสนุนแนวทางแห่งสันติวิธี ถ่ายทอดให้ในและนอกพื้นที่ได้รับรู้อย่างทั่วถึง