
ส่วนพัฒนายุทธศาสตร์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนและกำกับดูแลการดำเนินงานตามแผนงานโครงการตระหนักรู้และสร้างความเข้าใจในแต่ละจังหวัด ประจำปี 2568 เพื่อนำร่องการขับเคลื่อนกระบวนการออกแบบยุทธการ (ADM) และกระบวนการแสวงข้อตกลงใจทางทหาร (MDMP) โดยใช้เส้นปฏิบัติการ 2P เป็นตัวอย่างในการดำเนินการ เพื่อจัดตั้งคณะทำงานโดยกำหนดโครงสร้างหน้าที่ของเส้นปฏิบัติการ 2P และบูรณาการเครื่องมือการสื่อสารของหน่วยในจังหวัดโดยใช้ Social Listening วัดผลลัพธ์เชิงปริมาณเป็นรายเดือนและประเมินผลของกรมประชาสัมพันธ์ในเชิงคุณภาพ นอกจากนี้ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คณะทำงานฯ นำข้อมูลการวิเคราะห์ชุดความคิด (mindset) ที่นำไปสู่การลดความรุนแรงเชิงพฤติกรรม แก้ปัญหาตามบริบทของพื้นที่และเพื่อนำร่องให้เจ้าภาพเส้นปฏิบัติการอื่น นำไปเป็นตัวอย่างเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

โอกาสนี้ พลตรี กรกฎ ภู่โชติ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้าได้เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมในวันนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2568) เวลา 11.30 น. ณ โรงแรม บีพี สมิหลา บีช อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 19 – 21 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งได้กล่าวว่า “ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 มีนโยบายให้ใช้กระบวนการ ADM ซึ่งมีผลผลิต 11 เส้นปฏิบัติการเป็นแนวทางให้หน่วยใช้ในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมุ่งเน้นให้เกิดการบูรณาการงานและเครื่องมือให้สอดคล้องกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ครบถ้วน ขอให้หน่วยงานที่เข้าร่วมสัมมนาในวันนี้ มุ่งเน้นการจัดทำรายละเอียดของแต่ละจังหวัดให้ครบถ้วนและสมบูรณ์ เป็นไปตามนโยบายการปฏิบัติงาน ของผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 คือ สร้างความเข้าใจ ร่วมใจแก้ปัญหา นำพาสันติสุข” โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมฯ ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ดังนี้ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ, กรมประชาสัมพันธ์, ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้, สำนักงานศึกษาธิการภาค 7, ศูนย์ขับเคลื่อนการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้, สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด, สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา แต่ละจังหวัด, หน่วยงานด้านการประชาสัมพันธ์แต่ละจังหวัด และหน่วยขึ้นตรง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า รวมจำนวนทั้งสิ้น 52 หน่วยงาน 90 คน เข้าร่วมโดยพร้อมเพรียง
