วันเสาร์, 16 พฤศจิกายน 2567

รมว.อว.ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้ พร้อมผลักดันการใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลไทยสู่ตลาดโลก

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้ พร้อมผลักดันการใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลไทยสู่ตลาดโลก โดยมี รศ.นพ.สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พร้อมด้วย ผศ.คำรณ พิทักษ์ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้
คณะผู้บริหารและบุคลากรในหน่วยงานให้การต้อนรับ

อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้ มีภารกิจหลักที่สำคัญ คือ การสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาผู้ประกอบการหรือภาคเอกชน โดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ผสานความเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคชุมชนท้องถิ่น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจและอุตสาหกรรม ตลอดจนผลักดันผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์

ที่ผ่านมา อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้ ภายใต้การดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยในเครือข่าย ได้ให้ความสำคัญและพัฒนาผู้ประกอบการฮาลาลมาโดยตลอด ด้วยการดำเนินงานผ่านระบบและกลไกหลักของอุทยานวิทยาศาสตร์ ได้แก่ การบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมแก่ผู้ประกอบการ นอกจากนี้ยังมีการดำเนินโครงการพัฒนาผู้ประกอบการ
ด้านฮาลาล เช่น

โครงการสร้างผู้ประกอบการมุสลิมรุ่นใหม่ เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคใต้ โดยดึงอัตลักษณ์จากผลิตภัณฑ์ บริการ และอุตสาหกรรมเด่นในพื้นถิ่นมาพัฒนาให้มีความพร้อมผ่านการวิจัยด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

โครงการ Islamic Art ศิลปะอิสลาม สุนทรียะ เสน่ห์ และแรงบันดาลใจ เพื่อพัฒนาและให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ นักออกแบบ และผู้ที่สนใจเกี่ยวกับ “ศิลปะอิสลาม” ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการนำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์

อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้ ตั้งเป้าที่จะเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการฮาลาลของประเทศ โดยมีความเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วนอย่างครบวงจร โดยในปีพ.ศ.2567 อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้ มุ่งเน้นการขับเคลื่อน “อุตสาหกรรมฮาลาลสู่ตลาดโลก” เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการฮาลาลด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกสินค้าและบริการฮาลาลที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียนและระดับโลก