วันอาทิตย์, 23 กุมภาพันธ์ 2568

รมว.กห. ติดตามสถานการณ์และขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหา จชต. เน้นสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาและบูรณาการทุกภาคส่วน สร้างกำลังประจำถิ่นให้มีความพร้อม เข้มแข็ง ดูแลพื้นที่บ้านเกิดได้อย่างรัดกุม ปราศจากเงื่อนไขความรุนแรง ลดปัญหายาเสพติด และภัยความมั่นคง ภายใต้กรอบกฎหมาย

 วันนี้ (17 กุมภาพันธ์ 2568) เวลา 11.20 น. ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะฯ ลงพื้นที่รับทราบและติดตามการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยมี พลตรี วรเดช เดชรักษา รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า, ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ, หัวหน้าฝ่ายกิจการพิเศษ, หัวหน้าส่วนราชการ พร้อมผู้แทนหน่วยขึ้นตรงกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ให้การต้อนรับและเข้าร่วมรายงานสถานการณ์

โดย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า กองการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เป็นหน่วยที่เผชิญปัญหาทางภาคใต้และรับบทบาทหลักในการดูแลแก้ไขปัญหาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชื่นชมและขอส่งกำลังใจไปยังเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด่านหน้าทุกท่าน ที่เสี่ยงชีวิต เสียสละประโยชน์ส่วนตนปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยากลำบาก หลังจากนี้จะหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับ เพื่อกำหนดแผนยุทธศาสตร์ และกลับมาที่นี่อีกครั้ง ย้ำ “การนำพาสันติสุขต้องนำการสร้างโอกาส” กล่าวคือ ต้องมีการปรับเปลี่ยนด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ประชาชนในทุกด้าน ทั้งการศึกษา การสร้างงานสร้างอาชีพ การรักษาสุขภาพ ควบคู่กับการน้อมนำศาสตร์พระราชา หลักการทรงงานตามแนวพระราชดำริ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ชื่นชม กองทัพที่มีความพร้อมทั้งกำลังพลและยุทโธปกรณ์ในการเข้าช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้อย่างดียิ่ง ในการช่วยเหลือภัยพิบัติ อุทกภัย ขอให้ทุกหน่วยมีความพร้อมอยู่เสมอ เน้นเป็นที่พึ่งแก่ประชาชนในทุกโอกาส

โอกาสนี้ พลตรี วรเดช เดชรักษา รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยสถานการณ์ห้วงที่ผ่านมากลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงยังคงมีความพยายามก่อเหตุในรูปแบบต่าง ๆ สนับสนุนงานทางการเมืองและภาคประชาสังคม มีการใช้โซเชียลมีเดียบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ซึ่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการขับเคลื่อนงานด้านความมั่นคงและด้านการพัฒนา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้แผนเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปี 2568 อย่างประสานสอดคล้อง และมีเอกภาพ โดยน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการพัฒนาตามภูมิสังคมเป็นยุทธศาสตร์หลักแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้นโยบายสำคัญ 5 ด้าน พร้อมย้ำว่าทุกภาคส่วนบูรณาการร่วมกันสร้างความเข้าใจในทุกมิติ นำหลักศาสนาที่ถูกต้องจากท่านจุฬาราชมนตรีและผู้นำศาสนาในพื้นที่มาขับเคลื่อนฮูกุมปากัต (ธรรมนูญหมู่บ้าน 9 ดี) ในทุกชุมชน ทุกหมู่บ้าน โดยใช้ยุทธศาสตร์ประชาชนมีส่วนร่วมตรงความต้องการของประชาชน ชุมชน รวมทั้งเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นพี่น้องประชาชนทุกกลุ่มผ่านการประชาคมหมู่บ้านและสภาสันติสุขตำบล เพื่อรับทราบปัญหาความต้องการที่แท้จริงให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้ดำเนินการปรับลดการใช้กฎหมายพิเศษ ตามสถานการณ์ แต่คงไว้เฉพาะที่จำเป็น เพื่อคุ้มครองเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและพี่น้องประชาชนในพื้นที่ รวมถึงการนำผู้กระทำผิดกฎหมายมาดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนการปรับลดกำลังทหารและถอนกำลังกองทัพภาคต่าง ๆ นั้น มุ่งเน้นการเสริมสร้างประสิทธิภาพสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ทดแทนกำลังทหารในห้วงเปลี่ยนผ่านสู่การบริหารพื้นที่ภายใต้กลไกปกติของทางราชการ สำหรับสถานการณ์อุทกภัยห้วงที่ผ่านมาได้บูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนนำยุทโธปกรณ์ของกองทัพบกเข้าช่วยเหลือประชาชนทันที เมื่อได้รับคำร้องขอหรือประสานจากหน่วยงานข้างเคียง อีกทั้งจัดตั้งรถครัวสนามและติดตั้งสะพานเครื่องหนุนมั่น เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้สัญจรได้ชั่วคราวและร่วมกับทุกภาคส่วนดำเนินการฟื้นฟู จนกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

 ทั้งนี้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้าขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลในห้วงที่ผ่านมามีการควบคุมพื้นที่ และการบังคับใช้กฎหมาย 34 ครั้ง ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย 32 คน สำหรับงานด้านป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติดได้บังคับใช้กฎหมายคดียาเสพติด 1,616 คดี จับกุมผู้กระทำความผิด 1,699 คน ตรวจยึดของกลางพร้อมนำตัวผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวเข้ารับการบำบัดรักษา ในระบบสาธารณสุข จำนวน 81 ราย ,งานการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง ได้ส่งเสริมการฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามและขับเคลื่อนให้ชุมชน 2 วิถี เรียนรู้ ยอมรับการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม ควบคู่การสร้างความเข้าใจแก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้มีส่วนร่วมดูแลประชาชนจากปัญหาความมั่นคง พร้อมลงนามรับรองแนวทางการปลูกฝัง “ยะกีน”ฉบับชาวบ้าน(กีตาบเล็ก) ถือเป็นแนวทางการปลูกฝังจิตสำนึกของคนในชุมชน และขับเคลื่อนธรรมนูญหมู่บ้าน 9 ดี (ฮูกุมปากัต) ในทุกชุมชนต่อเนื่อง รวมทั้งขับเคลื่อนโครงการสานใจสู่สันติ และพบปะพัฒนาสัมพันธ์ รับฟังข้อคิดเห็นและปัญหาในพื้นที่ สร้างความเข้าใจ รู้เท่าทันกลุ่มขบวนการ ตลอดจนผลักดันเศรษฐกิจให้สร้างงานสร้างอาชีพแก่ประชาชนอย่างยั่งยืน รวมทั้งนำยุทโธปกรณ์หน่วยสนับสนุนการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติให้มีความพร้อมยุทโธปกรณ์เข้าช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดภัยพิบัติในทันที ทั้งฟื้นฟูสถานการณ์ การดูแลสุขภาพและจิตใจ การเยียวยา อีกทั้งด้านการสกัดกั้นตามแนวชายแดนได้ควบคุมการผ่านเข้า – ออก ของ บุคคล,การเคลื่อนย้ายอาวุธ, วัตถุระเบิด ตลอดจนภัยแทรกซ้อนทุกรูปแบบ จับกุมแรงงานต่างด้าว 21 ครั้ง ผู้ต้องหา 100 คน, จับกุมสินค้าหนีภาษี 13 ครั้ง ผู้ต้องหา 7 คน และผลคืบหน้าโครงการเพิ่มประสิทธิภาพ การควบคุมพื้นที่ชายแดน งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง ริมแม่น้ำโก-ลก ปัจจุบัน คิดเป็นร้อยละ 73.10 % ขณะที่สถานการณ์ด้านภัยความมั่นคงพบปัญหาด้านภัยแทรกซ้อน มีความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง โดยอาศัยสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ลักลอบกระทำผิดกฎหมาย ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2567 – ปัจจุบัน จำนวน 55 ครั้ง นอกจากนี้การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครประจำพื้นที่ได้ใช้กลไกการบริหารส่วนราชการปกติขับเคลื่อนการพัฒนาของกระทรวง ทบวง กรม ลงสู่หมู่บ้าน/ชุมชน ได้ดำเนินการฝึกเสริมสร้างขีดความสามารถสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.จชต.) (หลักสูตรผู้นำ อส.จชต.) จำนวน 24 รุ่น (2,532 นาย) เน้นส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทมากยิ่งขึ้น