วันจันทร์, 23 ธันวาคม 2567

ยิ่งใหญ่ ! งานวัฒนธรรมสัมพันธ์ มรภ.สงขลา “ตำนานโนรา เบญจคีตาทักษิณาดุริยางค์” สืบสานรากเหง้าวัฒนธรรมคู่ท้องถิ่นภาคใต้

มรภ.สงขลา จัดยิ่งใหญ่งานวัฒนธรรมสัมพันธ์ ประจำปี 2567 “ตำนานโนรา เบญจคีตา ทักษิณาดุริยางค์” ชูไฮไลท์การแสดงมโนราห์ 1,072 ชีวิต พร้อมทีมงานนักดนตรี สืบสานรากเหง้าวิถีวัฒนธรรมคู่ท้องถิ่นภาคใต้

มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) จัดงานวัฒนธรรมสัมพันธ์ ประจำปี พ.ศ. 2567 “ตำนานโนรา เบญจคีตา ทักษิณาดุริยางค์” ระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม-4 สิงหาคม 2567 ณ บริเวณรอบเกาะลอย มรภ.สงขลา ภายใต้โครงการเพิ่มศักยภาพชุมชน Soft Power บนฐานอัตลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น พิธีเปิดวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 ณ เวทีกลาง บริเวณหน้าหอประชุม 1 โดยมี รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดี มรภ.สงขลา เป็นประธานในพิธีเปิด วัตถุประสงค์เพื่อผลักดันศิลปะและวัฒนธรรมการแสดงพื้นบ้านภาคใต้ ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย นำไปสู่การผลักดันให้เป็น Soft Power ด้านเทศกาลประจำปีของ จ.สงขลา และช่วยเสริมสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งไฮไลท์สำคัญของงานนี้ คือการแสดงของมโนราห์ 1,072 คน พร้อมนักดนตรีพื้นบ้านกว่า 100 คน ท่ามกลางแสงสีเสียงตระการตา

รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ กล่าวว่า วัฒนธรรมเป็นรากเหง้าของสังคม ตั้งแต่ระดับชุมชน ท้องถิ่น และประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิถีวัฒนธรรมซึ่งแสดงความเป็นตัวตนที่แท้จริงของชุมชนและประเทศชาติ วัฒนธรรมเป็นพื้นฐานของอารยธรรม ซึ่งหมายถึง ความเจริญด้วยขนบธรรมเนียมอันดี วัฒนธรรมและอารยธรรมพื้นถิ่น เป็นเครื่องแสดงเอกลักษณ์ของความเป็นชุมชนท้องถิ่นและสังคมชาติ ในกระแสแห่งการพัฒนาเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะเทคโนโลยี ทำให้วัฒนธรรมและอารยธรรมนานาชาติหลั่งไหลและแทรกซึมเข้าถึงกันอย่างรวดเร็ว สถาบันการศึกษาจึงต้องเป็นสถาบันหลักในการธำรงรักษาวัฒนธรรม และอารยธรรมของชาติ พร้อมทั้งหาแนวทางในการส่งเสริมให้เลือกปรับเปลี่ยนอย่างชาญฉลาดในการรักษาความเป็นชุมชน สังคมชาติ และพัฒนาชีวิตอย่างสอดคล้องกับสังคมโลก

การจัดงานวัฒนธรรมสัมพันธ์ ประจำปี 2567 จึงเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชน ได้ร่วมกันศึกษา ทะนุบำรุง และส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรมอย่างหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะส่วนหนึ่งในการจัดงานครั้งนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึง วิถีวัฒนธรรมที่หล่อหลอมมาอย่างยาวนานจนเป็นอัตลักษณ์ของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งของคนภาคใต้ เช่น วัฒนธรรมด้านอาหาร การแสดงพื้นบ้าน โนรา หนังตะลุง ลิเกป่า และอื่น ๆ อันจะเป็นช่องทางให้นักศึกษาและประชาชนได้มองเห็นช่องทางในการเลือกสรรนำไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพ โดยอาศัยศาสตร์พระราชา ดำรงชีวิตอย่างพอเพียง ซึ่งจะสร้างความสุขและความอยู่ดีกินดี ธำรงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม รุ่งเรืองด้วยอารยธรรมพื้นถิ่น โดยการสืบสานสร้างสรรค์ วัฒนธรรมของชาติเป็นพื้นฐาน

ด้าน อาจารย์จิรภา คงเขียว รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา กล่าวว่า มรภ.สงขลา เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มีพันธกิจในการส่งเสริม เผยแพร่ อนุรักษ์ สืบสาน และสร้างสรรค์ศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่น และของชาติ โดยได้จัดงานวัฒนธรรมสัมพันธ์ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2531 บัดนี้ได้จัดมาเป็นเวลายาวนาน 36 ปี กลายเป็นต้นแบบการจัดงานทางวัฒนธรรมของหน่วยงานต่าง ๆ อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

การจัดงานวัฒนธรรมสัมพันธ์ นอกจากเพื่อส่งเสริมภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยด้านการทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมแล้ว ยังเป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรมในลักษณะต่าง ๆ อาทิ การคัดเลือกผู้มีผลงานดีเด่นด้านศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญา เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น “ปิตาภรณ์แผ่นดิน”การแสดงของเยาวชนจากโรงเรียนต่าง ๆ การจัดการแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้าน 4 ภาคของประเทศไทย พิธีบวงสรวงและสักการะทวดช้าง พ่อพลายแก้ว แม่พังงา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาว มรภ.สงขลา และชาว ต.เขารูปช้าง การแสดงพื้นบ้านภาคใต้ หนังตะลุง โนรา ลิเกป่า หนังกลางแปลง Chef Table อาหารพื้นถิ่น มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์สงขลา

นอกจากนั้น ยังมีการจัดกิจกรรมสาธิตพิธีกรรม “โนราโรงครู” (บูรณาการกิจกรรมร่วมกับ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา) นิทรรศการภาพถ่าย นิทรรศการ “ทักษิณาพัสตราภรณ์” จากเครือข่ายสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเขตภาคใต้ นิทรรศการชุมชนต้นแบบ มรภ.ภัฏสงขลานิทรรศการและการสาธิตผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม นิทรรศการอาหาร และของหรอย 16 อำเภอ การสาธิตและโชว์อาหารพื้นถิ่นจากอำเภอต่าง ๆ การสาธิตการทำแกงน้ำเคยกระทะใหญ่ การแสดงและจำหน่ายสินค้าจากราชทัณฑ์ ตลอดจนการแสดงและจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง และสินค้าทั่วไป โดยได้รับความร่วมมือและสนับสนุนด้วยดีจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนจังหวัดสงขลา เครือข่าย สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเขตภาคใต้ วิสาหกิจชุมชน และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง