วันที่ 29 มีนาคม 2566 มหาวิทยาลัยทักษิณ เปิดตัวโครงการวิจัยการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาบนฐานข้อมูลครัวเรือนคนจนจังหวัดพัทลุงด้วยนวัตกรรมเชิงระบบและนวัตกรรมการเรียนรู้ และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) ระหว่าง มหาวิทยาลัยทักษิณกับภาคีเครือข่าย ภายใต้ชุดโครงการวิจัย “การพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาบนฐานข้อมูลครัวเรือนคนจนจังหวัดพัทลุงด้วยนวัตกรรม ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ ชั้น 2 อาคารทักษิณาคาร มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.สมัคร แก้วสุกแสง รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดงาน
รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งชัชดาพร เวหะชาติ หัวหน้าแผนงานวิจัย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดโครงการวิจัยฯ ว่าจากฐานข้อมูลระบบ (TPMAP) และ (จปฐ.) จังหวัดพัทลุงเป็นจังหวัดหนึ่งใน 20 จังหวัดที่มีรายได้ครัวเรือนต่ำและมีจำนวนคนจนในระดับสูง เมื่อพิจารณาข้อมูลจำนวนคนจนเป้าหมายของจังหวัดพัทลุง โดยแสดงออกในแต่ละอำเภอ อำเภอคนจนเป้าหมายสูงสุดสามอันดับแรกคือ อำเภอปากพะยูน (20.1%), เมืองพัทลุง (19.9%) และควนขนุน (16.2%) และเมื่อพิจารณาผลข้อมูลจำนวนคนจนในจังหวัดพัทลุง นำไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูลทุนศักยภาพการดำรงชีวิต 5 ด้านของจังหวัดพัทลุง พบว่า คนจนพัทลุงมีทุนมนุษย์ของครัวเรือนยากจนอยู่ในกลุ่มอยู่ยาก การศึกษาส่วนใหญ่เป็นระดับประถมศึกษา มีการว่างงานสูง รายได้น้อย ได้รับสวัสดิการยังไม่ทั่วถึง และผลการวิเคราะห์บริบททุนมนุษย์ พบว่า ต้องดำเนินการเร่งพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านการศึกษา การฝึกทักษะอาชีพ และการดำเนินการเชิงนโยบายเพื่อความทั่วถึงในการรับสวัสดิการของรัฐ
จากปัจจัยดังกล่าว ก่อให้เกิดโครงการในการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ภายใต้ชุดโครงการ “การพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาบนฐานข้อมูลครัวเรือนคนจนจังหวัดพัทลุงด้วยนวัตกรรมเชิงระบบและนวัตกรรมการเรียนรู้” ประกอบด้วยโครงการย่อยดังนี้
1) โครงการ “การพัฒนาการพัฒนานวัตกรรมการบริหารความเป็นอิสระเพื่อสร้างนวัตกรรุ่นเยาว์ของสถานศึกษาพึ่งตนเอง (Stand Alone) โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” และ
2) โครงการ “การพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะการเรียนรู้ทักษะอาชีพ โดยใช้ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ”รองศาสตราจารย์ ดร.สมัคร แก้วสุกแสง รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า การจัดโครงการในวันนี้เพื่อประชาสัมพันธ์เปิดตัวโครงการวิจัยการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาบนฐานข้อมูลครัวเรือนคนจนจังหวัดพัทลุง ชี้แจงกรอบการดำเนินการวิจัยกับภาคีเครือข่ายความร่วมมือในระดับจังหวัดและสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อร่วมกันวางแผนและกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดพัทลุง และเพื่อลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับภาคีเครือข่ายร่วมพัฒนา ตลอดจนร่วมกันกำหนดเป้าหมาย วางแผนแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดพัทลุง ที่สอดคล้องกับนโยบายระดับจังหวัด ซึ่งมีภาคีเครือข่ายเข้าร่วมประกอบด้วย องค์กรที่เกี่ยวข้องระดับจังหวัดพัทลุง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบจ./เทศบาล) ศึกษาธิการจังหวัดพัทลุง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพัทลุง เขต 1 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาพัทลุง เขต 2 มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง หน่วยงานผู้ให้ทุน: หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายจำนวน 20 โรงเรียนในจังหวัดพัทลุง