วันเสาร์, 16 พฤศจิกายน 2567

ม.ทักษิณ เปิดงาน “TSU2T Innovation Fair : นวัตกรรมชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ

วันที่ 26 ธันวาคม 2564 นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง  เป็นประธานเปิดงาน “TSU2T Innovation Fair : นวัตกรรมชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการโดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์  จิตรนิรัตน์  รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการพร้อมคณะผู้บริหารร่วมต้อนรับ  ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ  มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง

อาจารย์ ดร.พลกฤษณ์  คล้ายวิตภัทร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการและชุมชนสัมพันธ์ พัทลุง และรักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการบริการวิชาการและภูมิปัญญาชุมชน กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานว่า  มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ดำเนินโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ สนับสนุนให้เกิดการจ้างงานประชาชนทั่วไป บัณฑิตจบใหม่และนักศึกษา ให้มีงานทำ พร้อมทั้งฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมตามปัญหาและความต้องการของชุมชน โดยมีพื้นที่รับผิดชอบในการดำเนินงาน 65 ตำบล ประกอบด้วย จังหวัดพัทลุง 61 ตำบล และจังหวัดสงขลา  4 ตำบล ซึ่งตามแผนการดำเนินงานได้กำหนดให้แต่ละตำบลดำเนินการจัดทำโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบล ตามปัญหาและความต้องการของชุมชน ใน 4 ด้าน ประกอบด้วย

1) ด้านการพัฒนาสัมมาชีพและสร้างอาชีพใหม่ (การยกระดับสินค้า OTOP/อาชีพอื่นๆ)

2) ด้านการสร้างและพัฒนา Creative Economy (การยกระดับการท่องเที่ยว)

3) ด้านการนำองค์ความรู้ไปช่วยบริการชุมชน (Health Care/เทคโนโลยีด้านต่าง ๆ)

4) ด้านการส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม/Circular Economy (การเพิ่มรายได้หมุนเวียนให้แก่ชุมชน)

และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อนวัตกรและชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ มหาวิทยาลัยทักษิณ จึงได้จัดงาน TSU2T INNOVATION FAIR เพื่อสร้างพื้นที่กลางในการจัดแสดงสุดยอดนวัตกรรมเด่นจากการดำเนินโครงการ สำหรับใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดพัทลุงและจังหวัดสงขลา โดยมีมหาวิทยาลัยทักษิณเป็นหน่วยงานบูรณาการโครงการ (System Integrator)  ซึ่งงานมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-29 ธันวาคม 2564 โดยประกอบด้วยกิจกรรมวิชาการ อาทิ การปาฐกถา การเสวนา การจัดนิทรรศการ การประกวดนวัตกรรมชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมภาคค่ำ เช่น การแสดงดนตรีและศิลปะพื้นบ้านจากศิลปินชั้นนำระดับประเทศ

ประกอบกับมหาวิทยาลัยทักษิณ ถือเป็นภาคีเครือข่ายสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดพัทลุงมาอย่างต่อเนื่อง ตามวิสัยทัศน์ คือ การเป็นเมืองแห่งความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” (Sustainability Phatthalung) ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจังหวัดพัทลุงมีการดำเนินโครงการ/กิจกรรมกับมหาวิทยาลัยหลากหลายด้าน โดยหนึ่งในโครงการที่เกิดการยกระดับจังหวัดพัทลุงได้อย่างเป็นรูปธรรม และเกิดการขับเคลื่อนการทำงานที่ครอบคลุมทั้งจังหวัด คือ โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ เนื่องจากครอบคลุมพื้นที่การดำเนินงานของจังหวัดพัทลุงถึง 61 ตำบล และขยายพื้นที่เพิ่มเติมไปถึงอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา อีก 4 ตำบล จึงถือเป็นโอกาสดีของจังหวัดพัทลุงที่คนในชุมชนได้มีงบประมาณมาพัฒนาตำบลตามสภาพปัญหาและความต้องการของคนในตำบลหลังจากเราต้องเผชิญกับปัญหาวิกฤตการณ์ระดับชาติจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนทุกภาคส่วนตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน 11 เดือนที่ผ่านมา จังหวัดพัทลุงมีงบประมาณที่กระจายรายได้ลงสู่ชุมชนสูงกว่า 200 ล้านบาท ชุมชนได้องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่ใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้าน OTOP ด้านท่องเที่ยว ด้านการบริการชุมชน และด้านการส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านการจัดทำโครงการ 260 โครงการ ซึ่งล้วนแล้วแต่สอดรับกับการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ของจังหวัดพัทลุงที่มุ่งพัฒนาเมืองคุณภาพ สิ่งแวดล้อมดี ชุมชนเข้มแข็ง และ การเกษตรและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ยั่งยืนต่อไป

“TSU2T Innovation Fair : นวัตกรรมชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-29 ธันวาคม 2564 ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีเปิด มีการเสวนาสานพลังเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น “บทเรียนความสำเร็จของโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ”โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทวนธง  ครุฑจ้อน (ผู้แทน USI มหาวิทยาลัยทักษิณ) ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการและชุมชนสัมพันธ์ สงขลา นายมีศักดิ์ ดวงขวัญ  นายกองค์การบริหารส่วนตำบลป่าพะยอม (ผู้แทน TSI ประจำตำบล) นางวัลภา จันทร์ปาน ประธานกลุ่มออมทรัพย์บ้านควนตะแบก (ผู้แทน TSI ประจำตำบล) อาจารย์ ดร.เพ็ญพักตร์  หนูผุด  อาจารย์ที่ปรึกษานวัตกรชุมชน ตำบลมะกอกเหนือ นางสาววรางคณา พงศาปาน นวัตกรชุมชนตำบลตะแพน ดำเนินการเสวนา โดย  ดร.บัณฑิต  ทองสงฆ์  รักษาการแทนรองผู้อำนวยการสถาบันปฏิบัติการชุมชนเพื่อการศึกษาแบบบูรณาการ