วันศุกร์, 10 มกราคม 2568

ม.ทักษิณ ร่วมมือ NIA เปิดตัว “หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมประจำพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย”

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 มหาวิทยาลัยทักษิณ โดยสำนักบ่มเพาะวิชาการเพื่อวิสาหกิจในชุมชน ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) เปิดตัว “หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมประจำพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และกิจกรรม “Open Innovation Road Show ครั้งที่1/2565” ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ อาคารทักษิณาคาร มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง โดยได้รับเกียรติจาก นายฉัตรชัย อุสาหะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรม รองศาสตราจารย์ ดร.วิชัย ชำนิ อธิการบดี มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน และกล่าวรายงานโดย รองศาสตราจารย์ ดร. ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดี ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ

 รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง นายฉัตรชัย อุสาหะ กล่าวว่า ปัจจุบันภาคธุรกิจ-ภาคอุตสาหกรรมของจังหวัดพัทลุง มีศักยภาพที่จะพัฒนาไปสู่ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่มีการต่อยอดให้มีนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation)โดยการร่วมมือกันในภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะจากสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ เช่น มหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งนอกจากจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมได้แล้ว ยังมีโอกาสพัฒนาขยายไปยังตลาดต่างประเทศได้อีกด้วย และมีความเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าหากเราได้ร่วมกันพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจที่มีนวัตกรรมเพื่อสังคมมากยิ่งขึ้น โดยทีมงานที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และสำนักบ่มเพาะวิชาการเพื่อวิสาหกิจในชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ ที่ได้จัดเตรียมไว้คอยให้คำปรึกษากับผู้ประกอบการในครั้งนี้ จะทำให้สินค้าของจังหวัดพัทลุงและจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้มีขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในตลาด AEC และตลาดโลกมากขึ้น

 สำหรับกิจกรรมภายในงาน มีการนำเสนอนโยบาย “การพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่ (Area – based) และการส่งเสริม Startup/SMEs ในพื้นที่ภาคใต้ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)” โดย ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) “แนวทางการดำเนินงานของหอการค้าจังหวัดพัทลุง” โดยนายเอกภัทร ภัทร์รัศมี ประธานกรรมการบริหาร YEC หอการค้าจังหวัดพัทลุง การบรรยาย แนะนำบทบาทหน้าที่ของฝ่ายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ,นวัตกรรมคืออะไร,กลไกการให้ทุนสนับสนุนโครงการนวัตกรรม,การเตรียมตัว Pitching Concept Idea,ตัวอย่างโครงการนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุน,ชี้แจงการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้ารับการบ่มเพาะฯ จำนวน 10 รายและแนวทางการดำเนินงานในภาพรวมของโครงการ รวมถึงการเสวนาเกี่ยวกับ “นโยบายและบทบาทของหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม ระดับภูมิภาค” โดย นายเฉลิมพงษ์ กล้าขยัน นักพัฒนานวัตกรรมอาวุโส สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ/ ผู้ประกอบการที่เคยได้รับทุนในการดำเนินงานและอาจารย์ที่ปรึกษาผลงานนวัตกรรม ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.นุกูล อินทระสังขา ผู้อำนวยการสำนักบ่มเพาะวิชาการเพื่อวิสาหกิจในชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ

 ทั้งนี้ทางสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ได้พิจารณาคัดเลือกสำนักบ่มเพาะวิชาการเพื่อวิสาหกิจในชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นผู้ดำเนินงานในเขตประจำพื้นที่ภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ 2565 ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมประจำพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย จะเน้นการจัดกิจกรรม ประชาสัมพันธ์และอบรมการพัฒนาโครงการนวัตกรรมให้แก่ผู้ประกอบการในภูมิภาคใต้และเพื่อสรรหาและพัฒนาโครงร่างข้อเสนอโครงการนวัตกรรมจากผู้ประกอบการในภาคใต้ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายในการดำเนินงานจะเน้นกลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคม กลุ่มนิติบุคคลและผู้ประกอบการที่สนใจ ในเขตพื้นที่จังหวัดภาคใต้ที่มีความสนในอยากพัฒนาด้านนวัตกรรมเพื่อสังคมให้ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชน อย่างยั่งยืน เช่น พื้นที่จังหวัดตรัง นครศรีธรรมราช สงขลา สตูล และจังหวัดอื่นๆ ในพื้นที่เครือข่าย