เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักบ่มเพาะวิชาการเพื่อวิสาหกิจในชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ จัดพิธีลงนามความร่วมมือพัฒนานวัตกรรมในภูมิภาคระหว่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยทักษิณ หอการค้าจังหวัดพัทลุง และจังหวัดพัทลุง และเปิดตัว “หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมประจำพื้นที่ภาคใต้” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง โดยได้รับเกียรติจากนายฉัตรชัย อุสาหะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงกล่าวแสดงความยินดีและเป็นประธานเปิดงาน ซึ่งรองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ พร้อมคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ
รองศาสตราจารย์ ดร.สมัคร แก้วสุกแสง รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ความร่วมมือของภาคีเครือข่ายและเปิดตัว “หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมประจำพื้นที่ภาคใต้” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างนวัตกรด้านสังคมผ่านการบ่มเพาะ และให้คำปรึกษา ภายใต้ระบบพี่เลี้ยง เพื่อช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและชุมชน ด้วยการนำนวัตกรรมไปแก้ปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งพัฒนาแนวคิดสู่ต้นแบบหรือโครงการนำร่องเป็นผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคมที่สร้างผลกระทบเชิงสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรมในกลุ่มจังหวัดยากจนของประเทศ หรือพื้นที่เป้าหมายนำร่องด้วยนวัตกรรม ซึ่งจะสร้างหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม และเครือข่ายนวัตกรรมเพื่อสังคมทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยทักษิณ ให้สามารถทำงานเชิงบูรณาการ แบ่งปันองค์ความรู้ วิเคราะห์มิติปัญหาสังคมในพื้นที่ และสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่เอื้อต่อการเติบโตของนวัตกรรมอย่างยั่งยืน และสร้างผลกระทบเชิงสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ผู้บริหารจตุภาคีในการลงนาม MOU นำเสนอนโยบายดังนี้ นายฉัตรชัย อุสาหะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง นำเสนอนโยบาย”แนวทางการดำเนินงานด้านนวัตกรรมเพื่อสังคมของจังหวัดพัทลุง”
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
นำเสนอนโยบาย “การพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่ (Area – based) และการส่งเสริมชุมชนนวัตกรรม ในพื้นที่ภาคใต้ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ
นายกิตติพิชญ์ กลับคุณ ประธานหอการค้าจังหวัดพัทลุง นำเสนอนโยบาย แนวทางการดำเนินงานของหอการค้าจังหวัดพัทลุง
รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ เสนอผลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยทักษิณ
สำหรับกิจกรรมช่วงบ่ายเป็นการเสวนาเกี่ยวกับ “แนวทางการทำงานด้านนโยบายและบทบาทของหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม พื้นที่ภาคใต้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในการสร้างหมุดหมายใหม่สู่การพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรมเพื่อสังคม” ประกอบด้วย โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย
1 รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ
2 คุณคุณาวุฒิ บุญญานพคุณ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
3 คุณเกศกมล จันทร์โภคาไพบูลย์ ประธานกรรมการบริหาร YEC หอการค้าจังหวัดพัทลุง
4 คุณสุเทพ ไชยธานี บริษัทปลาณีตฟาร์ม จำกัด
ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.นุกูล อินทระสังขา ผู้อำนวยการสํานักบ่มเพาะวิชาการเพื่อวิสาหกิจในชุมชน
รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่ามหาวิทยาลัยทักษิณให้ความสำคัญต่อประเด็นการพัฒนาทางสังคม และธุรกิจสังคม (social business) ที่สร้างความสามารถทางนวัตกรรมของสังคมลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งจะครอบคลุมทั้งการสร้างธุรกิจนวัตกรรม และการสร้างเครือข่ายนวัตกรรมเชิงสังคม โดยมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการให้ประโยชน์หรือสาธิตนำร่องผลิตภัณฑ์ หรือกระบวนการที่เพิ่มมูลค่าเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของชุมชน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความทั่วถึงและเท่าเทียมกันมากขึ้นในประเด็นนวัตกรรมเชิงสังคม 9 ด้าน คือ 1) ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 2) ด้านความเชื่อมโยงระหว่าง อาหาร น้ำ และพลังงาน 3) ด้านภาครัฐและการศึกษา 4) ด้านการเงิน การจ้างงาน และสวัสดิการสังคม 5) ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน 6) ด้านความเป็นเมือง 7) ด้านสุขภาพ ด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม และ 9) ด้านการจัดการภัยพิบัติ นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างและขยายเครือข่ายความร่วมมือในการขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม และเครือข่ายนวัตกรรมเพื่อสังคมทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยทักษิณ ให้สามารถทำงานเชิงบูรณาการ แบ่งปันองค์ความรู้ วิเคราะห์มิติปัญหาสังคมในพื้นที่ และสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่เอื้อต่อการเติบโตของนวัตกรรมอย่างยั่งยืน และสร้างผลกระทบเชิงสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้มหาวิทยาลัยทักษิณให้ความสำคัญในการส่งเสริม และสนับสนุนผู้ประกอบการผ่านการบ่มเพาะ การถ่ายทอดการวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม การเชื่อมโยงและสร้างเครือข่ายภายในประเทศและต่างประเทศ และการผลักดันเข้าสู่การแข่งขันทางธุรกิจ สอดคล้องกับโยบายมหาวิทยาลัยทักษิณ ของการเป็นมหาวิทยาลัยกลุ่ม 2 คือ กลุ่มพัฒนาและกลุ่มส่งเสริมเทคโนโลยีและการพัฒนานวัตกรรม เป้าหมายที่สำคัญคือการพัฒนากำลังคนเพื่อไปเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและการสร้างกำลังคนเพื่อให้ไปตอบสนองเชิงยุทธศาสตร์และนโยบายการพัฒนาประเทศในระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งสำนักบ่มเพาะวิชาการเพื่อวิสาหกิจในชุมชน ที่กำลังเปลี่ยนเป็นอุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสังคม เป็นหน่วยงานที่สำคัญในในการดำเนินงานดังกล่าว โดยให้ความสำคัญในการสนับสนุนให้ทุกส่วนงานช่วยพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะให้ความร่วมมือกับเครือข่ายทุกภาคส่วนที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก และภาคเอกชนให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม…