วันเสาร์, 16 พฤศจิกายน 2567

ม.ทักษิณ ขับเคลื่อนโมเดลแก้จน (Operating Model) : การส่งเสริมกระจูดเพื่อเพิ่มรายได้คนจนทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง

 เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 65 โครงการการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดพัทลุง โดยมหาวิทยาลัยทักษิณ ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เดินหน้าขับเคลื่อนดำเนินโครงการโมเดลแก้จน (Operating Model) : การส่งเสริมกระจูดเพื่อเพิ่มรายได้คนจนทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง โดยมีการเชื่อมโยงคนจนเป้าหมายเข้าร่วมในการพัฒนานวัตกรรมเชิงผลิตภัณฑ์ในแต่ละห่วงโซ่การผลิต (ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ) ทั้งนี้ได้รับความร่วมมือจาก Varnicraft หัตถกรรมกระจูดวรรณี เป็นพี่เลี้ยงร่วมกับทีมคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยทักษิณด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์กระจูด จัดทำหลักสูตรการพัฒนากระจูดเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน

สำหรับ “การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดพัทลุง” นั้น มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้มีการปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่และการแก้ไขปัญหาความยากจน ที่เหมาะสม ด้วยรูปแบบการพัฒนา “พัทลุงโมเดล” ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องผ่านกลไกศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดพัทลุง (ศจพ.จ.พัทลุง) ครอบคลุมหน่วยงาน 5 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และภาคประชาชน โดยมีเป้าหมายมุ่งสู่ความสำเร็จ คือ คนจนในจังหวัดพัทลุง มีคุณภาพชีวิต มีความเป็นอยู่ดีขึ้น ประชากรกลุ่มยากจนหลุดพ้นจากความยากจนอย่างยั่งยืนและสามารถเข้าถึงทรัพยากร การศึกษาสวัสดิการต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตได้อย่างเท่าเทียม