วันศุกร์, 15 พฤศจิกายน 2567

“มะเตาเฟต มูซอ” นศ. เทคโนโลยียางฯ มรภ.สงขลา คว้ารางวัลนำเสนอบทความวิจัย ภาคบรรยาย ระดับยอดเยี่ยม

มรภ.สงขลา สุดปลื้ม “มะเตาเฟต มูซอ” นักศึกษาสาขาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์ฯ คว้ารางวัลนำเสนอบทความวิจัย ภาคบรรยาย ระดับยอดเยี่ยม จากผลงาน “ผลของอุณหภูมิในการเก็บยางต่อลักษณะการวัลคาไนซ์และสมบัติทางกลของยางคอมพาวนด์หน้ายางของยางล้อ” ชี้ผลงานวิจัยสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมยางล้อหรือผลิตภัณฑ์ยางชนิดอื่น ๆ

นายมะเตาเฟต มูซอ นักศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ที่มี ดร.วัชรินทร์ สายน้ำใส อาจารย์หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ เป็นที่ปรึกษา ได้รับรางวัลนำเสนอบทความวิจัย ภาคบรรยาย ระดับยอดเยี่ยม จากผลงาน “ผลของอุณหภูมิในการเก็บยางต่อลักษณะการวัลคาไนซ์และสมบัติทางกลของยางคอมพาวนด์หน้ายางของยางล้อ” ในการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับชาติ ครั้งที่ 1 “วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน : 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่” ระหว่างวันที่ 1-2 มิถุนายน 2566 จัดโดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ณ โรงแรมเซ็นทารา ริเวอร์ไซด์ เชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

งานวิจัยเรื่องนี้มีข้อค้นพบที่น่าสนใจว่า การเก็บยางคอมพาวนด์หน้ายางที่อุณหภูมิต่างกันมีผลต่อลักษณะการวัลคาไนซ์และสมบัติเชิงกลของยาง กล่าวคือ การเก็บยางคอมพาวนด์หน้ายางที่อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส พบว่ามีเส้นกราฟการวัลคาไนซ์ค่าแรงบิดต่ำสุด ค่าแรงบิดสูงสุด ผลต่างแรงบิด ระยะเวลาแปรรูป และเวลาวัลคาไนซ์ต่ำกว่าการเก็บยางคอมพาวนด์หน้ายางที่อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส แต่มีค่าคงที่ปฏิกิริยาการวัลคาไนซ์และดัชนีความเร็วการวัลคาไนซ์สูงกว่าการเก็บยางคอมพาวนด์หน้ายางที่อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส

ส่วนผลของอุณหภูมิในการเก็บยางคอมพาวนด์ต่อสมบัติเชิงกลพบว่า การเก็บยางคอมพาวนด์หน้ายางที่อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส มีความเค้นที่ระยะยืด 300% ความทนทานต่อแรงดึงและพลังงานสูญหายต่ำกว่าการเก็บยางคอมพาวนด์หน้ายางที่อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส แต่การเก็บยางคอมพาวนด์หน้ายางที่อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส มีระยะยืดจนขาดสูงกว่าการเก็บยางคอมพาวนด์หน้ายางที่อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส โดยการเก็บยางคอมพาวนด์หน้ายางที่อุณหภูมิ 30 และ 40 องศาเซลเซียส มีลักษณะการวัลคาไนซ์และสมบัติเชิงกลเปลี่ยนแปลงไปตามระยะเวลาในการเก็บยางที่เพิ่มขึ้น การเก็บยางคอมพาวนด์หน้ายางในอุตสาหกรรมยางล้อจึงควรจัดเก็บในอุณหภูมิและระยะเวลาที่เหมาะสม กล่าวคือ เก็บยางคอมพาวนด์หน้ายางที่อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียสไม่ควรนานเกิน 7 วัน และที่อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส ไม่เกิน 1 วัน

ผลการวิจัยนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมยางล้อหรือผลิตภัณฑ์ยางชนิดอื่น ๆ ในการบริหารจัดการปริมาณการเก็บยางคอมพาวนด์ และการจัดเก็บยางคอมพาวนด์ในกระบวนการผลิต ซึ่งในอุตสาหกรรมยางล้อมีการใช้ยางคอมพาวนด์หลายสูตรที่แตกต่างกันตามแต่ละชิ้นส่วนประกอบของยางล้อ เช่น ยางคอมพาวนด์แก้มยาง ไหล่ยาง โครงยาง ผ้าใบเสริมหน้ายางหรือเข็มขัดยาง และขอบยาง ซึ่งอาจจะต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อการเก็บยางคอมพาวนด์แต่ละสูตรให้ถูกต้อง และเหมาะสมที่สุด ซึ่งงานวิจัยในอนาคตจะได้วิเคราะห์หาปริมาณการเชื่อมโยงของยางที่ระยะเวลาการเก็บยาง และอุณหภูมิในการเก็บยางคอมพาวนด์ต่าง ๆ ต่อไป รวมถึงการศึกษาเปรียบเทียบสมบัติทางกายภาพทั้งเชิงกลและพลวัติของยางวัลคาไนซ์ของยางคอมพาวนด์ชนิดต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมยางล้อด้วย