วันนี้ (11 พฤศจิกายน 2567) เวลา 10.00 น.ณ ห้องประชุมปริชญากร (ชั้น 4) อาคารสำนักงานวิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดกิจกรรม KICK OFF โครงการ “App Tech แก้จนคนตานีด้วยเทคโนโลยีพร้อมใช้”โดยมี รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม วิทยาเขตปัตตานี,หัวหน้าโครงการ การยกระดับโมเดลแก้จนด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมในพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์จังหวัดปัตตานี เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม ,หัวหน้าสวนราชการ,ผู้บริหาร บุคลากรมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ,สถาบันการศึกษาในจังหวัดชายแดนใต้ ,ภาคีภาคเอกชน ,ภาคีเครือข่ายงานวิจัย ตัวแทนชุมชน และตัวแทนภาคประชาสังคม เข้าร่วมฯ
กิจกรรม Kick off การนำเสนอเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี “App Tech คนตานีเทคโนโลยีพร้อมใช้” จัดขึ้น เพื่อเป็นเวทีสื่อสารให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่เหมาะสมที่ทางทีมวิจัยกำลังพัฒนากันอยู่ให้รับทราบ และร่วมกันให้ข้อเสนอแนะเพื่อที่จะทำให้ได้เทคโนโลยีที่เหมาะสมพร้อมใช้งานได้จริง ใช้งานได้ง่ายและเกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริง โดยโครงการ การพัฒนาและยกระดับการจัดการเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม: กรณีศึกษาพื้นที่จังหวัดปัตตานี ระยะที่ 2 ปีที่ 2 ภายใต้กรอบการวิจัย “พื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม” ประจำปีงบประมาณ 2567 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ ร่วมกับนักวิจัยจากหลากหลายส่วนงานได้ดำเนินการกันมาอย่างเข้มแข็ง ต่อเนื่องร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทำให้เห็นความจำเป็นและความสำคัญของการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนาอาชีพ ยกระดับรายได้ หรือการสร้างโอกาสอาชีพใหม่ในพื้นที่
แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า วันนี้ทางทีมวิจัยได้นำเสนอ 10 เทคโนโลยีที่เหมาะสม App Tech แก้จนคนตานี เทคโนโลยีพร้อมใช้ ได้นำเอาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผสมผสานกระบวนกับภูมิปัญญาท้องถิ่นมาทำให้เกิดเทคโนโลยีที่จะนำไปได้ใช้จริงในระดับชุมชนและครัวเรือน เป็นเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน เพื่อพร้อมจะต่อยอด ขยายผล และประยุกต์ใช้ในพื้นที่เป้าหมาย รวมถึงโอกาสในการขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ที่มีบริบทใกล้เคียงกัน ซึ่งงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การพัฒนาพื้นที่นี้จะสำเร็จไม่ได้เลยหากไม่ได้รับความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากกลไกภาคีทุกภาคส่วนในพื้นที่ต่างมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การเพิ่มศักยภาพทั้งกำลังคนและกำลังการผลิตในภาคต่างๆ ยกระดับเศรษฐกิจในครัวเรือน เศรษฐกิจชุมชน และเศรษฐกิจในภาพรวมของจังหวัดชายแดนใต้ เน้นให้ครัวเรือนและชุมชนสามารถพึ่งพาตนเอง
โดยภายในกิจกรรมมีการนำเสนองานวิจัยจำนวน 10 ผลงาน รวมถึงรับฟังการเสวนาและร่วมให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมตามบริบทของหน่วยงาน โดยทีมงานวิจัยฯ จะนำงานวิจัยเหล่านี้ลงไปถ่ายทอดให้ชุมชน เพื่อสามารถพัฒนาอาชีพและสร้างรายได้แก้จนคนตานีอย่างยั่งยืน