คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา ลงพื้นที่บริการวิชาการ ต.เกาะแต้ว ให้คำปรึกษาเสริมรายได้จากพืชหลังนาอินทรีย์ เผยความสำเร็จเกษตรกรได้ผลผลิตดี สร้างรายได้งาม ฟากนักศึกษาสุดปลื้มใจได้เสริมทักษะอาชีพ
ดร.มงคล เทพรัตน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า ทางคณะฯ จัดทำโครงการพัฒนากลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตและแปรรูปข้าวพื้นเมืองอินทรีย์ ต.เกาะแต้ว อำเภอเมืองสงขลา สู่วิสาหกิจชุมชน ปีที่ 1 กิจกรรมที่ 2 สนับสนุนและให้คำปรึกษาวิธีการเขตกรรมและการเสริมรายได้จากพืชหลังนาอินทรีย์ โดยคณะทำงานซึ่งประกอบด้วย ผศ.ดร.อมรรัตน์ ชุมทอง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ผศ.ดร.คริษฐ์สพล หนูพรหม รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและกิจการพิเศษ ดร.ศุภัครชา อภิรติกร อาจารย์ประจำหลักสูตรเกษตรศาสตร์ ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลปัญหาการคัดพันธุ์ปน การเก็บเกี่ยว การปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ และการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นเมือง สนับสนุนและให้คำปรึกษาวิธีการเขตกรรมและการเสริมรายได้จากพืชหลังนาอินทรีย์ การแปรรูปข้าวพื้นเมืองอินทรีย์เป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบของชุมชน ติดตามความก้าวหน้าของกลุ่มตัวอย่าง พัฒนา และเตรียมจัดตั้งกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนพื้นฐาน เพื่อสร้างรายได้และเพื่อการพึ่งพาตนเองของครอบครัว ชุมชน และระหว่างชุมชนให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจชุมชน โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ดร.มงคล กล่าวว่า คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา ดำเนินโครงการบริการวิชาการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ.2560 เพื่อเพิ่มทักษะวิชาชีพและพัฒนาอาชีพของกลุ่มเกษตรกร ต.เกาะแต้ว ให้มีความมั่นคงและยั่งยืน ภายใต้โครงการการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์พันธุ์ข้าวพื้นเมือง เพื่อตอบสนองโครงการอันเนื่องมาจากพระบรมราโชบายและแนวพระราชดำริในการส่งเสริมให้ราษฎรมีวิถีการดำเนินชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การบริการวิชาการนั้นมีทั้งการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมือง การส่งเสริมการปลูก และการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้าวพันธุ์พื้นเมืองในเชิงพาณิชย์ ส่งผลให้ข้าวพันธุ์พื้นเมืองของตำบลเกาะแต้วเป็นที่รู้จักและทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น
ผศ.ดร.อมรรัตน์ ชุมทอง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา กล่าวว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบสนองพระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิตและการจัดการเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นเมืองอินทรีย์ วิธีการเขตกรรมและการเสริมรายได้จากพืชหลังนาอินทรีย์ และการแปรรูปข้าวพื้นเมืองอินทรีย์เป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบของชุมชนให้เกษตรกร โดยการมีส่วนร่วม จนสามารถพัฒนาต่อยอดสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ เพิ่มรายได้ และพัฒนาเป็นอาชีพในระดับวิสาหกิจชุมชนพื้นฐานได้ ช่วยให้เกษตรกรมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในการพัฒนาอาชีพ ชุมชนมีศรัทธาและน้อมนำแนวทางพระราชดำริมาบูรณาการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่มีการเรียนรู้ร่วมกับ มรภ.สงขลา เพื่อสร้างรายได้และเพื่อการพึ่งพาตนเองของครอบครัว ชุมชน และระหว่างชุมชนให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจชุมชนอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
ด้าน ผศ.ดร.คริษฐ์สพล หนูพรหม รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและกิจการพิเศษ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่บริการวิชาการช่วงระหว่างวันที่ 18-22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา พบว่าเกษตรกรชุมชนเกาะแต้วประสบความสำเร็จจากการปลูกพืชหลังนาอย่างมาก อาทิ นางหวันสะเร๊าะ บินมุสา มีรายได้จากการปลูกแตงโม 4 ไร่ 40,000 บาท และมีรายได้จากการปลูกแตงกวา บวบ ฟักเขียว ถั่วฝักยาว ประมาณ 7,000 บาท ในขณะที่ นายสักการียา ขุนฤทธิ์ทิรอง มีรายได้จากการปลูกผักบุ้ง คะน้า ผักกาด กวางตุ้ง บนพื้นที่ 2 ไร่ ประมาณ 20,000 บาท และมีรายได้จากการปลูกถั่วฝักยาวอีกประมาณ 8,000 บาท ส่วนนายรอเหม พันธุ์สะแหละ ปลูกแตงโมบนเนื้อที่ 3 ไร่ มีรายได้ 30,000 บาท และมีรายได้อีก 10,000 บาท จากการปลูกแตงกวา ถั่วฝักยาว ฝักเขียว ถั่วฝักยาว ซึ่งเกษตรกรทั้ง 3 ราย ได้เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้วบางส่วน และเตรียมพื้นที่ไว้ปลูกรอบต่อก่อนจะถึงฤดูปลูกข้าวในเดือนตุลาคม 2563
นายศุภวิชญ์ ชูเขียว นักศึกษาหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต (การผลิตพืช) คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา กล่าวว่า ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการได้ปลูก ดูแล จนเก็บเกี่ยวผลผลิต และได้แจกจ่าย แบ่งปันให้กับผู้อื่น เช่น ใส่ในตู้ปันสุขหน้ามหาวิทยาลัย เป็นต้น ที่สำคัญ ตนนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการต่อยอดทำการเกษตรในพื้นที่บ้านของตนเอง ซึ่งปลูกแตงโมและพืชผักต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องเทคนิคการปลูกที่ช่วยให้ผลผลิตดีขึ้นด้วย