วันพุธ, 25 ธันวาคม 2567

มรภ.สงขลา เปิดแหล่งท่องเที่ยวถ้ำทะลุ-ตลาดนานาสตูลจีโอพาร์ค จับมือ ต.เขาขาว ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน 7 กลุ่มอาชีพ

คณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา พัฒนาท้องถิ่นตามพระบรมราโชบาย ร.10 จับมือ ต.เขาขาว เปิดตัวแหล่งท่องเที่ยวถ้ำทะลุ และตลาดนานาสตูลจีโอพาร์ค พร้อมยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน 7 กลุ่มอาชีพ สร้างรายได้อย่างยั่งยืน   

 ผศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาชุมชนต้นแบบการท่องเที่ยววิถีชุมชนบูรณาการความรักสามัคคี เทิดไท้องค์ราชัน ยุทธศาสตร์ มรภ.สงขลา เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นตามพระบรมราโชบายรัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 12 มกราคม ที่ผ่านมาว่า โครงนี้จัดขึ้นโดยคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เพื่อรับการตรวจเยี่ยมติดตามการดำเนินงานและเปิดป้ายแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนต้นแบบ ต.เขาขาว อ.ละงู จ.สตูล ซึ่งคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวจำนวน 2 แหล่ง คือศูนย์การเรียนรู้ถ้ำทะลุและตลาดนานาสตูลจีโอพาร์ค รวมทั้งได้มีการพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน 7 กลุ่มอาชีพ จึงถือเป็นความสำเร็จร่วมกันระหว่างชุมชน ต.เขาขาว และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.สงขลา

ผศ.ดร.ทัศนา กล่าวว่า การพัฒนาชุมชนต้นแบบการท่องเที่ยววิถีชุมชนฯ ถือเป็นโครงการที่จะทำให้ชุมชนมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยใช้การท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งที่ผ่านมาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ดำเนินการพัฒนา ต.เขาขาว   อย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม บนพื้นฐานงานวิจัยและบริการวิชาการ ถือเป็นการพัฒนาชุมชนต้นแบบอย่างแท้จริง อาจเรียกได้ว่าเป็นการพัฒนา  “เขาขาวโมเดล” ที่สามารถให้ชุมชนอื่นใช้เป็นแบบอย่างในการพัฒนาต่อไปได้ สำหรับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตลาดนานาสตูลจีโอพาร์คที่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ เป็นตลาดที่ประชาชนในพื้นที่สามารถนำสินค้าและผลิตภัณฑ์มาจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งช่วยกระจายรายได้ให้กับประชาชนในชุมชน นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

“แหล่งท่องเที่ยวถ้ำทะลุก็เช่นเดียวกัน ชุมชนผู้เป็นเจ้าของแหล่งท่องเที่ยวเป็นผู้เสนอความงดงามทางธรรมชาติและวัฒนธรรมของท้องถิ่นสู่นักท่องเที่ยว และชุมชนผู้เป็นเจ้าของแหล่งท่องเที่ยวได้มีบทบาทต่อการบริหารจัดการ และทำนุบำรุงคุณค่าแห่งความงดงามเอาไว้ให้ยั่งยืน ด้วยความเข้าใจและมีจิตสำนึกแห่งความเป็นเจ้าของ รวมทั้งมีสิทธิ์กำหนดแนวทางการพัฒนาไปด้วยกัน บทบาทจากชุมชนเปรียบเสมือนเครื่องรับประกันความยั่งยืนของชุมชน” รักษาราชการแทนอธิการบดี มรภ.สงขลา กล่าว

 ด้าน ผศ.นาถนเรศ อาคาสุวรรณ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.สงขลา กล่าวว่า ทางคณะฯ ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 3 ปี โดยได้กำหนดเป็นพื้นที่เป้าหมายในการบริการวิชาการ พร้อมทั้งได้จัดทำ MOU ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลเขาขาว (อบต.เขาขาว) โดยคณะฯ มีเป้าหมายที่สำคัญเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี และเกิดการกระจายรายได้ในชุมชนจากการท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นไปตามยุทธศาสตร์ มรภ.สงขลา เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นตามพระบรมราโชบายรัชกาลที่ 10 โดยได้มีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตลาดนานาสตูลจีโอพาร์ค เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และเป็นสถานที่จำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมทั้งยังเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวถ้ำทะลุ เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศในพื้นที่อุทยานธรณีโลก จ.สตูล โดยได้จัดทำป้ายบอกทางและป้ายแหล่งท่องเที่ยวถ้ำทะลุ ปรับปรุงถนนและจัดทำสะพานไม้เข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวถ้ำทะลุ จัดสร้างอาคารรองรับนักท่องเที่ยว จัดทำป้ายสื่อความหมายแหล่งท่องเที่ยวถ้ำทะลุ เป็นต้น

 ผศ.นาถนเรศ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตลาดนานาสตูลจีโอพาร์ค คณะทำงานฯ ได้จัดทำป้ายบอกทางแหล่งท่องเที่ยว ป้ายตลาดนานาสตูลจีโอพาร์ค จัดทำสะพานเดินชมแหล่งท่องเที่ยว จัดทำร้านค้า จำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชน ปรับปรุงสถานที่และการตกแต่งภูมิทัศน์ เป็นต้น

นอกจากนั้น ยังมีการพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน จำนวน 7 กลุ่มอาชีพ ได้แก่ 1. กลุ่มตัดเย็บบ้านบ่อหิน 2. กลุ่มโกปิ๊นาข่า 3. กลุ่มเขาขาวโคขุน 4. กลุ่มข้าวกล้องเขาขาว 5. กลุ่มขนมบ้านดาหลำ 6. กลุ่มขนมชุมชนบ้านหาญ 7. กลุ่มนวดแผนไทย สปาฮาลาล ซึ่งเป็นกลุ่มอาชีพน้องใหม่ที่ทางคณะฯ กำลังพัฒนาในปีนี้ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวชุมชน

นายอภิชาต ราโอบ กำนัน ต.เขาขาว กล่าวว่า การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวถ้ำทะลุเป็นความร่วมมือกันระหว่างชาวชุมชนบ้านหาญ ต.เขาขาว อบต.เขาขาว และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.สงขลา ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศในพื้นที่อุทยานธรณีโลก จ.สตูล ที่จะทำให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ระบบนิเวศควบคู่ไปกับการเรียนรู้ซากดึกดำบรรพ์ที่ค้นพบในพื้นที่ ที่นี่จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจให้นักท่องเที่ยวได้มาท่องเที่ยวและเรียนรู้พร้อมกับเกิดความรักและหวงแหนธรรมชาติอีกด้วย

ปิดท้ายด้วย นายนพดล นงเกษม นายก อบต.เขาขาว กล่าวว่า งานในวันนี้เกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ในการพัฒนาตลาดนานาสตูลจีโอพาร์คให้เป็นตลาดสำหรับจำหน่ายสินค้า อาหาร และผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อรองรับการท่องเที่ยวโดยชุมชน ช่วยสร้างระบบเศรษฐกิจชุมชนเกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน ในนามของชาว ต.เขาขาว ขอขอบคุณ มรภ.สงขลา ที่ให้การสนับสนุนการพัฒนาตลาดนานาสตูลจีโอพาร์ค จนเกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม พวกเราชาวเขาขาวจะให้ความร่วมมือและทุ่มเทพัฒนาให้ ต.เขาขาว เป็นชุมชนต้นแบบการท่องเที่ยววิถีชุมชนบูรณาการความรักสามัคคีเทิดไท้องค์ราชันต่อไป