วันจันทร์, 13 มกราคม 2568

มรภ.สงขลา เปิดงานวัฒนธรรมสัมพันธ์’ 66 “อัตลักษณ์ท้องถิ่น สืบศิลป์สู่มรดกโลก” สืบสานเอกลักษณ์รากแก้วของแผ่นดิน สะท้อนวิถีถิ่นใต้

มรภ.สงขลา เปิดงานวัฒนธรรมสัมพันธ์ ประจำปี 2566 ชูจุดเด่น “อัตลักษณ์ท้องถิ่น สืบศิลป์สู่มรดกโลก” จัดเต็มศิลปะการแสดงภาคใต้อย่างโนรา หนังตะลุง ลิเกป่า พร้อมเดินหน้ามหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น สะท้อนวิถีชีวิตอันดีงาม สืบสานเอกลักษณ์รากแก้วของแผ่นดิน

เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2566 ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เป็นประธานในพิธีเปิดงานวัฒนธรรมสัมพันธ์ ประจำปี 2566 “อัตลักษณ์ท้องถิ่น สืบศิลป์สู่มรดกโลก” จัดพิธีเปิด โดยงานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-20 สิงหาคม 2566 ณ บริเวณรอบเกาะลอย มรภ.สงขลา วัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ ตลอดจนสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านศิลปะและวัฒนธรรม

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ นายกสภา มรภ.สงขลา กล่าวว่า วัฒนธรรมเป็นรากเหง้าของสังคม ตั้งแต่ระดับชุมชน ท้องถิ่น และประเทศชาติ วัฒนธรรมจึงเป็นรากเป็นฐานที่แสดงถึงวิถีชีวิตอันดีงาม ที่เป็นเครื่องแสดงเอกลักษณ์ของท้องถิ่น วัฒนธรรมเป็นพื้นฐานของอารยธรรม ซึ่งหมายถึงความเจริญด้วยขนบธรรมเนียมอันดี ทว่า ในกระแสแห่งการพัฒนาเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะเทคโนโลยี ทำให้วัฒนธรรมและอารยธรรมนานาชาติหลั่งไหลและแทรกซึมเข้าถึงกันอย่างรวดเร็ว สถาบันการศึกษาจึงต้องสถาบันหลักในการธำรงรักษาวัฒนธรรมและอารยธรรมของชาติ พร้อมทั้งหาแนวทางในการส่งเสริมให้เลือกปรับเปลี่ยนอย่างชาญฉลาดในการรักษาความเป็นชุมชน สังคมชาติ และพัฒนาชีวิตอย่างสอดคล้องกับสังคมโลก

การจัดงานวัฒนธรรมสัมพันธ์ ประจำปี 2566 จึงเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชน ได้ร่วมกันศึกษา ทำนุบำรุง และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมอย่างหลากหลายรูปแบบ ซึ่งหากเป็นไปได้อยากให้เพิ่มความถี่ในการจัดงานด้านการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมให้มากขึ้น จากเดิมที่จัดปีละครั้งอาจจัดขึ้นเป็นประจำทุกเดือน เพราะแม้แต่ชาวต่างชาติก็ชื่นชมศิลปวัฒนธรรมอันงดงามของไทย ดังจะเห็นได้จากส่วนหนึ่งในการจัดงานครั้งนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงวิถีวัฒนธรรมที่หล่อหลอมมาอย่างยาวนานจนเป็นอัตลักษณ์ของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งของคนภาคใต้ เช่น วัฒนธรรมด้านอาหาร การแสดงพื้นบ้าน โนรา หนังตะลุง ลิเกป่า และอื่นๆ อันจะเป็นช่องทางให้นักศึกษาและประชาชนได้มองเห็นช่องทางในการเลือกสรรนำไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพได้ต่อไป

ด้าน รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดี มรภ.สงขลา กล่าวว่า มรภ.สงขลา เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น มีพันธกิจในการส่งเสริม เผยแพร่ อนุรักษ์ สืบสานและสร้างสรรค์ศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่นและของชาติ โดยได้จัดงานวัฒนธรรมสัมพันธ์ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2531 บัดนี้ได้จัดมาเป็นเวลายาวนาน 35 ปี กลายเป็นต้นแบบการจัดงานทางวัฒนธรรมของหน่วยงานต่างๆ อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ซึ่งการจัดงานวัฒนธรรมสัมพันธ์นอกจากเพื่อส่งเสริมภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมแล้ว ยังเป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรมในลักษณะต่างๆ อาทิ การคัดเลือกผู้มีผลงานดีเด่นด้านด้านศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น “ปิตาภรณ์แผ่นดิน” การแสดงของเยาวชนจากโรงเรียนต่างๆ การจัดแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้าน 4 ภาคของประเทศไทย พิธีบวงสรวงและสักการะทวดช้าง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาว มรภ.สงขลา และชาว ต.เขารูปช้าง มหกรรมหนังตะลุง “หนังดาวรุ่ง ตะลุงราชภัฏ”

นอกจากนั้น ยังมีการประกวดทำอาหารพื้นถิ่น สำรับลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา แกงสมรม ขนมต้ม และเต้าคั่ว (สลัดทะเลสาบสงขลา) กิจกรรมสาธิตพิธีกรรมโนราโรงครู ซึ่งบูรณาการร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา นิทรรศการภาพถ่าย “โนรา มรดกภูมิปัญญาของมนุษยชาติ” และ “แหล่งโบราณคดีในจังหวัดสงขลา” นิทรรศการชุมชนต้นแบบ มรภ.สงขลา นิทรรศการและการสาธิตผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม การแสดงและจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองและสินค้าทั่วไป โดยการจัดงานในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือและสนับสนุนด้วยดีจากเครือข่ายภาครัฐและเอกชน