วันจันทร์, 23 ธันวาคม 2567

มรภ.สงขลา วิทยาเขตสตูล เปิด 2 หลักสูตรใหม่ “นวัตกรรมการจัดการ-การท่องเที่ยว” รับสมัคร นศ. ตั้งแต่บัดนี้-30 มิ.ย. 63

มรภ.สงขลา วิทยาเขตสตูล เปิดตัว 2 หลักสูตรใหม่ล่าสุด สาขาวิชานวัตกรรมการจัดการ และ การท่องเที่ยว เน้นเรียนควบคู่ปฏิบัติ รับสมัครนักศึกษาแล้ววันนี้-30 มิ.ย. 63 ชูจุดเด่นเสริมสร้างผู้เรียนเป็นผู้ประกอบการ พร้อมพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ

 ผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า มรภ.สงขลา วิทยาเขตสตูล เปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ ระดับปริญญาตรี ภาคปกติ ใน 2 หลักสูตรใหม่ล่าสุด สำหรับเรียนที่วิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ จ.สตูล ได้แก่ 1. หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมการจัดการ วิชาเอกการจัดการธุรกิจและการเป็นผู้ประกอบการยุคดิจิทัล และ วิชาเอกนวัตกรรมการจัดการธุรกิจการเกษตร 2. หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการท่องเที่ยว โดยผู้สนใจสามารถสมัครได้ตั้งแต่บัดนี้-วันที่ 30 มิถุนายน 2563 หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน โทร. 074-260276 หรือ 093-7515445 

 ด้าน รศ.ดร.สมศักดิ์ แก้วพลอย คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ มรภ.สงขลา กล่าวว่า สำหรับหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิตสาขาวิชานวัตกรรมการจัดการ เกิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ด้านนวัตกรรมการจัดการ และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้เพื่อการประกอบอาชีพ รวมทั้งเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (Entrepreneurs) ที่มีความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมได้เป็นอย่างดี มีความคิดสร้างสรรค์ ใฝ่รู้ มีวิจารณญาณในการตัดสินใจแก้ปัญหา และปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ นอกจากนั้น ยังมีจุดมุ่งหมายในการผลิตบัณฑิตให้มีคุณธรรม จริยธรรม มีเจตคติที่ดีและมีจิตสำนึกต่อสังคม ตลอดจนมีความสามารถในการเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงขององค์กรและสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของประเทศ   

                จุดเด่นของหลักสูตร คือการเสริมสร้างผู้เรียนให้เป็นผู้ประกอบการ ด้วยภาคการปฏิบัติจริง มีอาชีพเมื่อสำเร็จการศึกษา ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทักษะในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ และเป็นหลักสูตรที่มีการออกแบบรายวิชาให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน สอดคล้องกับบริบทเชิงพื้นที่ และก้าวทันต่อสถานการณ์โลกปัจจุบัน ซึ่งหลังสำเร็จการศึกษาผู้เรียนมีโอกาสประกอบอาชีพผู้ประกอบการธุรกิจ นักออกแบบ/นักวางแผนด้านการประกอบการ ที่ปรึกษาด้านการประกอบธุรกิจ นักพัฒนาธุรกิจ นักวิชาการด้านการบริหารธุรกิจ เจ้าหน้าที่ของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจหรือเอกชน ในส่วนงานการบริหารจัดการ การตลาด การวิจัยและพัฒนา ผู้จัดการฟาร์มอัจฉริยะ นักวิชาการ/ที่ปรึกษา/นักวิจัยในฟาร์มเกษตรอัจฉริยะหรือบริษัทธุรกิจเกษตร เจ้าหน้าที่ภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนองค์กรในระดับท้องถิ่น ทำงานในธุรกิจเอกชนส่วนงานบริหารจัดการในธุรกิจเกษตร อาทิ การผลิตสินค้าเกษตรเชิงพาณิชย์และการบริหารจัดการโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร

รศ.ดร.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการท่องเที่ยว มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ ทักษะ สามารถประกอบอาชีพโดยนำหลักวิชาการทางด้านการท่องเที่ยวมาประยุกต์ใช้ในงานอุตสาหกรรมบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อพัฒนาบัณฑิตให้มีทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งมีความเป็นผู้นำ สามารถวางแผน ประสานงาน และสร้างมนุษยสัมพันธ์กับบุคคลภายในและภายนอกองค์กรเป็นอย่างดี มีคุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์ สุจริต ความมีระเบียบวินัย มีใจรักงานบริการ มีความรับผิดชอบต่อการปฏิบัติวิชาชีพและสังคม ที่สำคัญ เป็นหลักสูตรที่จัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนสามารถสำเร็จการศึกษาภายในระยะเวลา 3.5 ปี

ทั้งนี้ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการท่องเที่ยว ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการผลิตบัณฑิตที่สามารถประกอบอาชีพได้หลากหลาย อาทิ ผู้ประกอบการทำงานในหน่วยงานของภาครัฐและเอกชน ธุรกิจบริการ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว พนักงาน ลูกจ้าง หน่วยงานของภาครัฐและเอกชน ธุรกิจบริการ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น ธุรกิจที่พัก โรงแรม ภัตตาคาร ธุรกิจนำเที่ยว ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจขนส่ง และธุรกิจร้านขายของที่ระลึก หรือแม้แต่ข้าราชการในหน่วยงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว