วันพฤหัสบดี, 9 มกราคม 2568

มรภ.สงขลา ลงนามความร่วมมือบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เสริมสร้างศักยภาพด้านงานวิจัย พัฒนานวัตกรรมและการใช้ประโยชน์

สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ เทียบเชิญ มรภ.สงขลา ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ เรื่อง การบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านงานวิจัย พัฒนานวัตกรรมและการใช้ประโยชน์ พร้อมสนับสนุนราชภัฏพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากร เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

วันที่ 10 มกราคม 2565 รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) พร้อมด้วย ดร.นราวดี บัวขวัญ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ได้รับเชิญจากสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เรื่อง การบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านงานวิจัย พัฒนานวัตกรรมและการใช้ประโยชน์ ระหว่าง สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี และ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ณ ห้องแถลงข่าว อาคารพระจอมเกล้า ชั้น 1 สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรี อว. กล่าวเปิดงาน

สำหรับวัตถุประสงค์ของความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนและส่งเสริมการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ยกระดับผลิตภัณฑ์และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แลกเปลี่ยนความรู้ ทรัพยากรและบุคลากรด้านงานวิจัยและพัฒนา ตลอดจนการผลิต พัฒนาบุคลากรเพื่อการเพิ่มพูนความรู้ที่มีความสนใจ ร่วมกันพัฒนาให้มีคุณภาพมาตรฐานและปริมาณสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ สร้างเครือข่ายความร่วมมือในการวิจัย การประยุกต์ใช้และการถ่ายทอดเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ระหว่างองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่ม ชมรม สมาคม และประชาชนทั่วไป

ทั้งนี้ บทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 3 แห่ง ตามข้อตกลงความร่วมมือนี้ คือการวิจัยและพัฒนา จัดการศึกษา เพิ่มศักยภาพ ประสิทธิภาพ และเสริมสร้างขีดความสามารถในการบริหารจัดการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ และสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ประสานงานเพื่อใช้ประโยชน์จากความรู้และทักษะจากทรัพยากรบุคคลของแต่ละหน่วยงาน ได้แก่ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงทรัพยากรอื่น ๆ เช่น ข้อมูล สารสนเทศ เครื่องมือ อุปกรณ์ สถานที่ ตลอดจนปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้โครงการต่าง ๆ บรรลุเป้าหมาย จัดกิจกรรมเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ผลงานภายใต้โครงการความร่วมมือ และการดำเนินการอื่น ๆ เพื่อผลักดันโครงการต่าง ๆ ให้สัมฤทธิ์ผล ประสานเครือข่ายเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการให้สามารถเข้าถึง เข้าใจ และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ร่วมสนับสนุนและพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ