วันเสาร์, 16 พฤศจิกายน 2567

มรภ.สงขลา ลงนามความร่วมมือ สอวช.-ราชภัฏ 38 แห่ง พัฒนานโยบายและข้อริเริ่มเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ

มรภ.สงขลา ลงนามความร่วมมือ สอวช.-มหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง พัฒนานโยบายและข้อริเริ่มเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ชี้ใช้จุดแข็งด้านความใกล้ชิดท้องถิ่น มีทรัพยากรบุคคลและองค์ความรู้ในสาขาที่หลากหลาย เป็นกลไก ขับเคลื่อนสร้างความเข้มแข็ง

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนานโยบายและข้อริเริ่มเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ร่วมกับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และ มหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่งทั่วประเทศ ผ่านระบบ zoom โดยมี พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี เป็นประธานกิตติมศักดิ์ และ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏถือได้ว่าเป็นสถาบันอุดมศึกษากลุ่มหลักในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรมนุษย์ ตั้งแต่ในระดับชุมชนท้องถิ่นจนถึงในระดับพื้นที่ภูมิภาค ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ โดยอาศัยจุดแข็งที่โดดเด่นทั้งในด้านตำแหน่งที่ตั้งที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ มีทรัพยากรบุคคลและองค์ความรู้ในสาขาที่หลากหลาย ทั้งยังมีประสบการณ์การทำงานอย่างมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ และมีความใกล้ชิดกับชุมชนท้องถิ่นมาเป็นระยะเวลานาน ดังนั้น เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยราชภัฏ เป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งแก่รากฐานของการพัฒนาประเทศ ที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ภูมิภาค สอวช. กับมหาวิทยาลัยราชภัฏ จึงได้ตกลงร่วมมือดำเนินการพัฒนานโยบายและข้อริเริ่มเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ

พลเอก ดาว์พงษ์ กล่าวว่า มีความสุขทุกครั้งที่ได้ทำงานร่วมกับราชภัฏ ขอบคุณในความทุ่มเททำงานสิ่งที่อยากจะให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมคือ 1. เน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องการจัดทำแผน เพราะคงเป็นเรื่องยากแน่นอน 2. ในการทำยุทธศาสตร์ต้องคิดนอกกรอบ แต่ต้องเคารพกฎกติกา การขับเคลื่อนแนวคิดต้องมีการอธิบาย ขยายความให้ชัดเจน อย่าใช้ศัพท์ที่เป็นทางการจนยากแก่การทำความเข้าใจ 3. ต้องให้ความสำคัญกับการผลิตครู และนึกถึงคณะอื่น ๆ ด้วย ต้องไปด้วยกัน มีแผนพัฒนาทิศทางที่จริงจังและชัดเจน นำไปสู่ท้องถิ่น 4. วิศวกรสังคม คือ การพัฒนานักศึกษา สร้างเยาวชน ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ต้องคิดต่อยอด เรื่องแผนไม่อยากให้เป็นแค่กระดาษ แต่อยากให้ทำอย่างจริงจัง อยากให้ท่านอธิการฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มต้นจากการจัดทำแผนที่ดี ควรให้ความสำคัญกับการแผน 5 ปี และต้องระดมความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แผน 5 ปีต้องชัดเจน ต้องนึกถึงสารตั้งต้น เช่น พระบรมราโชบายด้านการศึกษา แผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่มีอยู่เดิมแล้ว เป็นต้น

“ต้องขอขอบคุณทางกระทรวง อว. และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่าน ที่สำคัญคืออธิการราชภัฏทั้ง 38 แห่งที่มาร่วมกันในวันนี้ ผมมีความสุขและสนุกที่ครั้งที่ได้ทำงานร่วมกับราชภัฏ และไม่เคยลืมสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านรับสั่งไว้ว่า ให้แนะนำมหาวิทยาลัยราชภัฏให้ทำงานให้เข้าเป้าในการยกระดับการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่นในท้องที่ตน” พลเอก ดาว์พงษ์ กล่าว

ด้าน ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติและปลื้มใจที่ได้มาทำพิธีลงนามในวันนี้ สิ่งที่เราทำเป็นการตอกย้ำให้มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่งได้เชื่อมั่นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและรัฐบาลให้ความสำคัญและบทบาทกับราชภัฏในการตอบโจทย์พัฒนาประเทศ เมื่อมีนวัตกรรม มีแผนพัฒนาเกิดขึ้น เรายิ่งต้องทำต่อไปซ้ำ ๆ ตอกย้ำไปเรื่อย ๆ การทำแผนพัฒนานโยบายราชภัฏต้องเขียนเพื่อจะชนะ แม้ว่าการชนะนั้นอาจจะมีความบกพร่องในบางเรื่องก็ตาม แต่ต้องชนะเพื่อร่วมตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ