มรภ.สงขลา ลงนามความร่วมมือด้านวิชาการและการวิจัยร่วมกับ มรภ.ลำปาง และ 21 ภาคีเครือข่าย ยกระดับท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์บนเส้นทางรถไฟสายเหนือส่วนขยาย (เชียงใหม่ – ลำปาง ไปยังพิษณุโลก) ผนึกกำลังขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจไทย แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านท่องเที่ยวและบริการ
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2566 รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) พร้อมด้วย ดร.นราวดี บัวขวัญ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ อาจารย์ชัยวัฒนภัทร เลาสัตย์ หัวหน้าโครงการวิจัย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางด้านวิชาการและการวิจัย ระหว่าง มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง (มรภ.ลำปาง) นำโดย รศ.กิตติศักดิ์ สมุทธารักษ์ อธิการบดี มรภ.ลำปาง และภาคีเครือข่าย 21 หน่วยงาน เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์บนเส้นทางรถไฟสายเหนือส่วนขยาย (เชียงใหม่ – ลำปาง ไปยังพิษณุโลก) วัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้มีความสามารถในการแข่งขันและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมสู่อนาคต โดยใช้วิทยาศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้การประสานความร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลและองค์ความรู้ พร้อมทั้งนำผลจากการดำเนินการตามแผนงานไปใช้ประโยชน์ในมิติด้านต่างๆ อันเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวและบริการ
ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2567 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) มีแผนการส่งเสริม สนับสนุนการท่องเที่ยวทางรถไฟเชิงสร้างสรรค์ทั่วประเทศ ผ่านมหาวิทยาลัยในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 4 แห่ง ร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยครอบคลุมภูมิภาคต่างๆ ดังนี้
- ภาคเหนือ (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และ สุโขทัย) แผนงานวิจัย การเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ผ่านการท่องเที่ยวโดยรถไฟสายเหนือ ส่วนขยาย (เชียงใหม่ ลำปาง ไปยัง พิษณุโลก) โดย มรภ.ลำปาง
2. ภาคใต้ (สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช) แผนงานวิจัย การเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์โดยรถไฟในเส้นทางศักยภาพของภาคใต้บนฐานอัตลักษณ์เพื่อการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (หาดใหญ่ สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช และ ตรัง) โดย มรภ.สงขลา
3.ภาคอีสานตอนบน (ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย) แผนงานวิจัย การพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์โดยรถไฟเพื่อสร้างมูลค่าด้วยฐานทุนวัฒนธรรม และความเชื่อมโยงในเส้นทางอีสานตอนบน (ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย) โดย มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย
4.ภาคอีสานตอนล่าง (นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และ อุบลราชธานี) แผนงานวิจัย การพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์โดยรถไฟเพื่อสร้างมูลค่าด้วยฐานทุนวัฒนธรรมและความเชื่อในเส้นทางอีสานตอนล่าง (นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี) โดย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม