วันอาทิตย์, 17 พฤศจิกายน 2567

มรภ.สงขลา ยกระดับส้มจุกเชิงพาณิชย์-ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เสริมรายได้เกษตรกรจะนะ

คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา ลงพื้นที่ ต.แค อ.จะนะ เดินหน้ายกระดับส้มจุกเชิงพาณิชย์ให้ได้ผลผลิตมีคุณภาพใกล้เคียงสายพันธุ์ดั้งเดิม พร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์ส้มจุกดองเค็มและส้มจุกกวนแบบหยี ควบคู่ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้ในชุมชน หวังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต เสริมรายได้เกษตรกร

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ผศ.ดร.อมรรัตน์ ชุมทอง พร้อมด้วย ดร.กมลทิพย์ นิคมรัตน์ ผศ.ดร.ศุภัครชา อภิรติกร และ อ.สันติ หมัดหมัน คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ลงพื้นที่บริการวิชาการภายใต้โครงการการพัฒนานวัตกรรมทางสังคมเชิงพื้นที่ในด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต กิจกรรมที่ 2.1 ยกระดับการผลิตส้มจุกเชิงพาณิชย์และผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เสริมรายได้ของเกษตรกร (เกษตรพหุวัฒนธรรม ต.แค อ.จะนะ)

ผศ.ดร.อมรรัตน์ กล่าวว่า โครงการที่จัดขึ้นในครั้งนี้เป็นโครงการต่อเนื่องจากปีก่อน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้คนในชุมชนสร้างความสมดุลและมีผลิตภัณฑ์ที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ สามารถดํารงชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นําไปสู่การพึ่งตนเอง และช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชนได้อย่างยั่งยืน ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการจัดการการผลิตส้มจุกเป็นสินค้าอัตลักษณ์ชุมชน รวมถึงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากวัสดุเศษเหลือทิ้งในชุมชน เพื่อใช้เองและจําหน่ายได้ โดยที่ผ่านมาเกษตรกรสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากวัสดุเศษเหลือทิ้งได้เองในชุมชน จากการลงพื้นที่ในปีก่อนสามารถนำปุ๋ยที่ผลิตไปใช้ในแปลงปลูกพืชของตนเองได้ เป็นการลดต้นทุนการซื้อปุ๋ยจากภายนอก และเป็นการสร้างรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ซึ่งแสดงถึงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้

ด้าน ผศ.ดร.ศุภัครชา กล่าวว่า ลักษณะของการลงพื้นที่ในปีงบประมาณนี้ ยังคงมีเป้าหมายชัดเจนในการส่งเสริมและสนับสนุนชุมชน ซึ่งทางคณะฯ มีความคาดหวังว่าชุมชนจะสามารถมีนวัตกรรมการใช้ประโยชน์จากการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากวัสดุเศษเหลือทิ้งในชุมชน จํานวน 1 นวัตกรรม และมีแปลงสาธิตการผลิตส้มจุกที่ผ่านการวางแผนและการจัดการที่ดี จํานวนไม่น้อยกว่า 3 แปลง นอกจากนั้น ยังมุ่งหวังถึงความร่วมมือของเกษตรกรหรือผู้นําในชุมชน จํานวน 40 คน ซึ่งโครงการที่จัดขึ้นนี้มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมกว่า 20 คน ส่วนสำคัญของการทำโครงการต่อเนื่องในครั้งนี้ ส่งผลให้คณะเทคโนโลยีการเกษตรมีเครือข่ายความร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การผลิตร่วมกันระหว่างพื้นที่ในการพัฒนาท้องถิ่น โดยมีเครือข่ายให้ความสนใจแล้วจํานวน 1 เครือข่าย

ดร.กมลทิพย์ กล่าวเสริมว่า ในส่วนของคุณภาพผลผลิตส้มจุกนั้น จากการพูดคุยกับเกษตรกรทั้ง 20 กว่าราย พบว่าปัญหาของผลผลิตส่วนใหญ่มาจากลักษณะผลที่ไม่ตรงตามตามสายพันธุ์ดั้งเดิม ลักษณะเนื้อ ความฉ่ำน้ำ ผิวผล เส้นใย ความหนาของเปลือก ความหวาน ขนาดผล สีเปลือกผล หรือการเป็นจุกชัดเจน การให้ผลผลิตที่สม่ำเสมอ รวมถึงลักษณะอื่นๆ ที่เป็นพันธุ์แท้ 100% มักจะแตกต่างจากพันธุ์ลูกผสม ครั้งนี้จึงได้เก็บผลผลิตบางส่วนมาเพื่อวัดคุณภาพผลผลิต และในส่วนของผลผลิตที่เป็นลูกเล็กจากการตัดแต่งช่อผล จากการทดลองปีก่อนตนและ ผศ.นพรัตน์ วงศ์หิรัญเดชา ได้ทดลองพัฒนาผลิตภัณฑ์ส้มจุกดองเค็ม และส้มจุกกวนแบบหยี แต่ยังไม่ได้ตรงตามลักษณะที่ต้องการ เนื่องจากยังมีรสขมอยู่ จึงยังต้องมีการทดลองต่อไปว่าจะสามารถเพิ่มรายได้จากผลผลิตที่มีการตัดแต่งทิ้งนี้โดยวิธีใดได้บ้าง