วันอังคาร, 14 มกราคม 2568

มรภ.สงขลา พัฒนาระบบผลิตพริกจินดาแดง ปั้นมาตรฐานคุณภาพพืชอินทรีย์ อ.ระโนด

คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา จับมือสำนักงานเกษตร อ.ระโนด ลงพื้นที่ทำวิจัยพัฒนาระบบผลิตพริกจินดาแดง ต่อยอดสู่มาตรฐานคุณภาพพืชอินทรีย์ ควบคู่พัฒนาบรรจุภัณฑ์ ศึกษาช่องทางตลาด พร้อมวิเคราะห์ความคุ้มทุนในการผลิตเครื่องแกงแปรรูปเชิงพาณิชย์ หวังช่วยเกษตรกรเพิ่มมูลค่าพืชผลทางเศรษฐกิจของท้องถิ่น

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 คณาจารย์คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอระโนด ลงพื้นที่โครงการวิจัยภายใต้แผนงาน การสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมบนฐานการวิจัย เรื่อง การพัฒนาระบบการผลิตพริกจินดาแดงเพื่อนำไปสู่มาตรฐานคุณภาพพืชอินทรีย์และเพิ่มมูลค่าในพื้นที่จังหวัดสงขลา โดยมี นางสุจิตรา รุ่งรัศมีวิริยะ เกษตรอำเภอระโนด พร้อมด้วย นางสาวราตรี ด้วงดี นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ ให้การต้อนรับ

ผศ.ดร.อมรรัตน์ ชุมทอง อาจารย์คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา หัวหน้าโครงการ เล่าความเป็นมาของโครงการว่า อ.ระโนด เป็นแหล่งปลูกพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศหลายชนิด เช่น ข้าว ไม้ผล อาชีพเกษตรกรจึงเป็นอาชีพหลักของประชากรในพื้นที่ ภายหลังเมื่อราคาพืชหลักมีความผันผวน และประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ เกษตรกรจึงมีการปลูกพืชเพื่อเป็นรายได้เสริม โดยพริกเป็นพืชที่เกษตรกรให้ความสนใจและตัดสินใจปลูก เนื่องเป็นพืชที่มีราคาดี สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศที่อยู่ข้างเคียง เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์

ซึ่งทั้งสองประเทศมีความต้องการพริกจากประเทศไทยมากขึ้น อ.ระโนด เป็นพื้นที่ที่มีการปลูกพริกมากที่สุด โดยมีพื้นที่การปลูกพริกประมาณ 3,111 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นพริกขี้หนูเม็ดใหญ่พันธุ์ยอดสน และพริกจินดาแดง ตนจึงนำทีมนักวิจัยซึ่งได้แก่ ผศ.ดร.ศุภัครชา อภิรติกร ดร.กมลทิพย์ นิคมรัตน์ ผศ.ดร.เธียรชัย พันธ์คง และ ผศ.ปริยากร บุญส่ง ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง อาทิ การจัดการแปลงปลูก การให้ปุ๋ย การแปรรูป และการตลาด ลงพื้นทำวิจัยในเรื่องดังกล่าว

ดร.กมลทิพย์ นิคมรัตน์ อาจารย์ประจำหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการผลิตภัณฑ์อาหาร มรภ.สงขลา ผู้ร่วมโครงการวิจัย กล่าวว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้า ทำให้มีการชะลอการสั่งซื้อพริกจากประเทศไทย ส่งผลให้มีพริกตกค้างอยู่ในสวนของเกษตรกรเป็นจำนวนมาก เกษตรกรในพื้นที่ได้รวมกลุ่มกันแปรรูปพริกที่เหลือจากการจำหน่ายและส่งออก นำมาแปรรูปอย่างง่ายด้วยการทำเป็นพริกแกง ซึ่งเป็นส่วนประกอบของอาหารไทยที่มีการสั่งสมองค์ความรู้ และถ่ายทอดต่อๆ กันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จนกลายเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม และอาหารไทยประเภทที่ใช้พริกแกงหรือเครื่องแกงเป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารนั้นก็ได้รับวัฒนธรรมมาจากประเทศอินเดีย และเป็นอาหารที่คนไทยนิยมรับประทานกันมาแต่โบราณ นอกจากจะช่วยเพิ่มรสชาติและสีสันให้กับอาหารแล้ว ยังช่วยกลบกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ที่ใช้ในการประกอบอาหาร ทำให้อาหารมีกลิ่นหอมน่ารับประทานยิ่งขึ้น อีกทั้งพริกแกงยังเป็นวัตถุดิบปรุงอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพอีกด้วย

ผศ.ปริยากร บุญส่ง ผู้ร่วมโครงการวิจัย กล่าวว่า จากกระแสการปรับตัวของเกษตรกรที่มีการปลูกพริกเชิงพาณิชย์มากขึ้น ทั้งพริกเขียวมันและพริกจินดาแดง ประกอบกับนโยบายและทิศทางการส่งเสริมของประเทศที่ให้มุ่งเน้นส่งเสริมการผลิตพืชอินทรีย์ การทำเกษตรปลอดสารพิษ รวมทั้งการแปรรูปและการยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนให้ได้มาตรฐาน ซึ่งกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรได้รวมกลุ่มแปรรูปพริก จากการสำรวจตลาดเครื่องแกงในพื้นที่ อ.ระโนด จ.สงขลา และพื้นที่ใกล้เคียง พบว่าไม่มีการผลิตหรือทำขายอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังพบปัญหา เช่น การเก็บรักษาได้ไม่นาน บรรจุภัณฑ์ยังไม่เหมาะสม กลุ่มผู้ผลิตขาดความรู้การบริหารจัดการ โดยเฉพาะเรื่องต้นทุนและผลตอบแทน และการตลาดไม่เป็นระบบ ทำให้การจำหน่ายสินค้าถูกจำกัดเฉพาะพื้นที่ใกล้เคียง ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ช่องทางการตลาด และการวิเคราะห์ความคุ้มทุนของการผลิตเครื่องแกงแปรรูปในเชิงพาณิชย์ เพื่อต่อยอดพริกรูปแบบอินทรีย์ และเครื่องแกงซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เบื้องต้นที่เกิดจากภูมิปัญญาและความรู้ของเกษตรกร เพื่อขยายตลาดและสร้างโอกาสในเชิงพาณิชย์ให้แก่เกษตรกรต่อไป

ผศ.ดร.เธียรชัย พันธ์คง อาจารย์มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ผู้ร่วมโครงการวิจัย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสินค้าเข้าสู่ตลาด กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนจะต้องมีผลให้ผู้บริโภคหรือลูกค้าเกิดความพึงพอใจในตัวผลิตภัณฑ์ให้มากที่สุด การตลาดมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงมากขึ้น และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้มีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นในตลาดเป็นจำนวนมาก ซึ่งศักยภาพในการผลิตของกลุ่มเกษตรกรแบบเดิมเป็นแบบขายสดและมีกลุ่มรับซื้อ ฉะนั้น เบื้องต้นควรเก็บข้อมูลเพื่อการวางแผนจัดการ เช่น ปริมาณความต้องการรับซื้ออยู่ที่กิโลละเท่าไหร่ ผู้ขายมีปริมาณเท่าไหร่ แบบสอบถามที่จะเกิดขึ้นสามารถใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่จะช่วยให้กลุ่มเกษตรกรจัดการวางแผนการผลิตพริกจินดาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ด้าน นางสุจิตรา รุ่งรัศมีวิริยะ เกษตรอำเภอระโนด กล่าวว่า ขอบคุณคณะเทคโนโลยีการเกษตรที่เห็นความสำคัญของกลุ่มเกษตรกร อ.ระโนด ตนเชื่อว่าโครงการวิจัยดังกล่าวสามารถตอบโจทย์ให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตพริกหลังนา ซึ่งจะช่วยสร้างเสริมรายได้ ตอบโจทย์ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ นอกจากนั้น ความร่วมมือของเกษตรอำเภอระโนดและ มรภ.สงขลา ในครั้งนี้ จะช่วยในเรื่องความร่วมมือต่างๆ การขอความอนุเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ต่างๆ จากคณาจารย์ของทางมหาวิทยาลัย มาเป็นวิทยากรแนะนำเกษตรกรในเรื่องต่างๆ ได้ และมีความยินดีหากจะเกิดโครงการอื่นๆ ต่อเนื่องในอนาคต ทั้งในเรื่องของการทำการเกษตรและวิถีชีวิตของเกษตร

นายประวิชญ์ สุวรรณโณ นักส่งเสริมการเกษตร ศูนย์เรียนรู้ส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกร หน่วยงานสหกรณ์การเกษตรระโนด กล่าวว่า รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่คณาจารย์จาก มรภ.สงขลา มีโครงการดีๆ มาช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกร ซึ่งทางสหกรณ์ฯ พร้อมให้ความร่วมมือช่วยเหลือในเรื่องของการรวบรวมวัตถุดิบ การรวมกลุ่ม การประสานงานต่างๆ และยินดีให้ความร่วมมือในกระบวนการผลิต การแปรรูปจากพริกสด การนำพริกแห้งเข้าสู่กระบวนการผลิตเครื่องแกงที่มีคุณภาพต่อไปด้วย
โอกาสเดียวกันนี้ ทีมวิจัยยังได้เยี่ยมชมกลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำพริกแม่ปลื้ม และได้ร่วมพูดคุยกับเจ้าของผลิตภัณฑ์น้ำพริก ซึ่งได้กล่าวว่าหากทีมวิจัยสามารถส่งเสริมพัฒนาการปลูกพริกจินดาในพื้นที่ได้ ตนพร้อมจะรับซื้อพริกทั้งแบบสดและแห้ง สำหรับนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์น้ำพริกของทางกลุ่ม