วันศุกร์, 10 มกราคม 2568

มรภ.สงขลา ผนึกเครือข่ายวิสาหกิจฯ จัดค่าย “ศิลป์สร้างสรรค์ แบ่งปันชุมชน” บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความดี สร้างจิตสำนึกรักบ้านเกิด

มรภ.สงขลา จับมือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน จัดค่าย “ศิลป์สร้างสรรค์ แบ่งปันชุมชน” ครั้งที่ 1 บ่มเพาะเยาวชนเมล็ดพันธุ์แห่งความดี สร้างจิตสำนึกรักบ้านเกิด เห็นคุณค่าภูมิปัญญาท้องถิ่น

 อาจารย์โอภาส อิสโม ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า สำนักศิลปะและวัฒนธรรม ร่วมกับเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ประกอบด้วย วิสาหกิจชุมชน Ecotourism Songkhla Thailand ธุรกิจเพื่อชุมชน Singora Comes Alive หอศิลป์ Art mill สงขลา ทีม แต้มสุขสนุกกับสี จากโรงเรียนมหาวชิราวุธ ศิลปินรับเชิญ ศิลปินจากหัวเขาจากนิทรรศการ Singora Comes Alive PTTEP บริษัท หาดทิพย์ จำกัด Songkhla Station สถานีความสุข สถานีสร้างสรรค์ และ กระทรวงอุตสาหกรรม จ.สงขลา จัดค่ายศิลป์สร้างสรรค์ แบ่งปันชุมชน ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ที่ผ่านมา ณ บ้านในกำแพงแหลมสน ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา จุดประสงค์เพื่อใช้ศิลปะสร้างสรรค์ในการสร้างการเรียนรู้ ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของท้องถิ่นให้กับเด็กและเยาวชน

อาจารย์โอภาส กล่าวว่า สำนักศิลปะและวัฒนธรรมเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนามนุษย์ในสาระการเรียนรู้ดังกล่าว ต้องอาศัยแหล่งเรียนรู้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาค้นคว้าของนักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่ง จ.สงขลา เป็นจังหวัดที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่เกิดจากการผสมผสานด้วยผู้คนหลากหลายกลุ่มที่เข้ามาตั้งถิ่นฐาน ก่อให้เกิดวิถีชีวิตจากการเรียนรู้ภายในท้องถิ่น และวัฒนธรรมเฉพาะท้องถิ่นที่แตกต่างและโดดเด่นอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเป็นมรดกที่ทรงคุณค่ายิ่งของสงขลา ที่เอื้อต่อการศึกษาค้นคว้าของบุคคลในทุกระดับ อันเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างวิถีแห่งการเรียนรู้ สร้างแรงกระตุ้นให้สนใจประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับชุมชน สังคม เกิดความมุ่งมั่น รักและเพลิดเพลินในการแสวงหาความรู้ อันจะส่งผลให้สามารถวิเคราะห์และสรุปองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง นำไปสู่การตระหนักและเห็นความสำคัญของการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง และเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่น พร้อมที่จะเติบโตเป็นพลโลกได้อย่างมีคุณภาพบนรากฐานของความเป็นไทย 

  ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า มรภ.สงขลา ได้รับความร่วมมือจากคณาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ ทำหน้าที่วิทยากรประจำฐานเรียนรู้ ได้แก่ ผศ.ดร.จรรย์สมร ผลบุญ วิทยากรประจำฐานสุนทรียะวิถีนาฏยท้องถิ่น อาจารย์ชัยวัฒนภัทร เลาสัตย์ วิทยากรประจำฐานปั้นดินหัวเขา และ อาจารย์ภูษิต สุวรรณมณี วิทยากรประจำฐานกิจกรรม ร้อง เล่น เป็น เพลง พร้อมทั้งส่งนักศึกษาเข้าร่วมเป็นผู้ช่วยวิทยากรในฐานกิจกรรมกว่า 10 คน รูปแบบค่ายเป็นกิจกรรมในลักษณะ Walk Rally ประกอบด้วย ฐานที่ 1 กิจกรรมแต้มสุข สนุกกับสี ฐานที่ 2 กิจกรรมปั้นดินหัวเขา ฐานที่ 3 กิจกรรมสร้างสรรค์งานศิลป์จากครามสงขลา ฐานที่ 4 กิจกรรม ร้อง เล่น เป็น เพลง และ ฐานที่  5 ฐานกิจกรรม สุนทรียะวิถีนาฏยท้องถิ่น ปิดท้ายด้วยการร่วมทำอาหารกับชุมชนและรับประทานร่วมกัน พร้อมกิจกรรมรอบกองไฟ โดยมีนักเรียนโรงเรียนวัดบ่อทรัพย์ เยาวชนในชุมชน ต.หัวเขา และชาวบ้าน เข้าร่วมกิจกรรมราว 100 คน

ด้าน อาจารย์กมลนาวิน อินทนูจิตร รองผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์ศึกษาค้นคว้าวิจัยข้อมูลองค์ความรู้และอนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรม สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา ผู้เสนอโครงการ กล่าวว่า ตนในฐานะเลขานุการหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่น จ.สงขลา ได้มีโอกาสสำรวจเพื่อจัดทำฐานข้อมูลสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมในพื้นที่เมืองเก่าสงขลา ฝั่งหัวเขาและแหลมสนบ่อยครั้ง พบว่าเมืองเก่าสงขลาในพื้นที่ดังกล่าวมีต้นทุนวัฒนธรรมในระดับสูง ทั้งสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม เนื่องจากเป็นเมืองเก่าของสงขลาก่อนจะย้ายมาฝั่งบ่อยาง จนเป็นเมืองสงขลาในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งศักยภาพการประกาศเป็นพื้นที่มรดกจังหวัด ซึ่งอาศัยการประเมินคุณค่าของต้นทุนวัฒนธรรม ประกอบด้วย ความแท้ ความสมบูรณ์ และ ความต่อเนื่อง

“ในเรื่องความแท้ ความสมบูรณ์ เราสามารถใช้วิชาชีพเข้าไปปรับปรุง บูรณะสิ่งก่อสร้าง โบราณสถานได้ แต่ความต่อเนื่องนั้นหมายถึงการมีส่วนร่วมในการใช้ประโยชน์พื้นที่ที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบันและอนาคต เพราะฉะนั้นสิ่งต่างๆ ที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษเราไม่ว่าจะเป็นศิลปะ วัฒนธรรม การแสดง หรือโบราณสถานก็ดี ไม่ใช่มรดกเพียงแค่คนรุ่นเรา แต่คือมรดกของคนในรุ่นต่อไปที่เราหยิบยืมมาใช้แล้วเราต้องปลูกฝังทัศนคติแก่เยาวชนด้านสืบสาน รักษา และต่อยอด สนองพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 น้อมนำศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” อาจารย์กมลนาวิน กล่าวและว่า

 ศิลปะคือผลแห่งพลังทางความคิดสร้างสรรค์ที่แสดงออกในรูปลักษณ์ต่างๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นสุนทรียภาพ ความรื่นรมย์ ขนบธรรมเนียม ประเพณี จารีตประเพณี หรือความเชื่อในลัทธิศาสนา นอกจากรูปแบบกิจกรรมที่สอดคล้องกับนิยามคำว่าศิลปะ สถานที่ในการจัดกิจกรรม บ้านในกำแพงแหลมสนซึ่งเป็นบ้านคหบดีสำคัญ บริเวณท่าเรือตั้งแต่เมืองเก่าสงขลาฝั่งแหลมสน สถานที่สำคัญในอดีตได้นำมาจัดเป็นพื้นที่แหล่งเรียนรู้ ทำให้เกิดความรู้สึกซาบซึ้งต่อความงาม ก่อเกิดจริยธรรมในจิตใจของคน และในที่สุดก็ส่งผลไปสู่สังคมที่สงบและสันติ หากจะบอกว่าศิลปะคือความดีก็คงจะไม่ผิดหรือแปลกแต่อย่างใด เพราะโครงการนี้ได้เริ่มบ่มเพาะเยาวชน เมล็ดพันธุ์แห่งความดีไว้ในชุมชนแล้ว

     ขณะที่ ผศ.ดร.จรรย์สมร ผลบุญ รองผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา วิทยากรประจำฐานสุนทรียะวิถีนาฏยท้องถิ่น กล่าวถึงความประทับใจว่า กิจกรรมนี้สอนให้เด็กๆ ดึงวิถีชีวิตในชุมชนมาเล่าเรื่องร้อยเรียงผ่านนาฏศิลป์  โดยการใช้นาฏยศัพท์และภาษาท่าอย่างง่าย ถ่ายทอดจากวิถีชุมชนของแต่ละครอบครัว อาทิ การทำประมง การทำสวน เป็นต้น

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

อาจารย์ชัยวัฒนภัทร เลาสัตย์ อาจารย์ประจำหลักสูตรการออกแบบ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มรภ.สงขลา วิทยากรประจำฐานปั้นดินหัวเขา กล่าวว่า ต.หัวเขา เป็นที่ตั้งของเมืองเก่าสงขลาที่มีมรดกวัฒนธรรมทรงคุณค่ามากมาย ค่ายศิลป์สร้างสรรค์ แบ่งปันชุมชน ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ ช่วยให้น้องๆ เยาวชนในพื้นที่ได้เรียนรู้และตระหนักถึงคุณค่าของท้องถิ่นที่ตนอาศัย ผ่านกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ ตนรู้สึกดีใจและมีความสุขมากๆ ที่ได้เห็นน้องๆ เยาวชนเรียนรู้อย่างมีความสุข และหวังว่าในอนาคตเยาวชนเหล่านี้จะเติบโตขึ้นเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่น

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

  อาจารย์ภูษิต สุวรรณมณี คณะศิลปกรรมศาสตร์ มรภ.สงขลา กล่าวว่า กิจกรรมในฐานเปิดโอกาสให้เด็กๆ ร่วมกันคิดเนื้อเพลงจากวิถีชีวิตของเขาที่อยู่ในชุมชน ร่วมกับพวกพี่ๆ ราชภัฏ และการเรียนรู้จังหวะดนตรีจากวัสดุธรรมชาติ โดยใช้ทำนองเพลงปักษ์ใต้บ้านเรา เน้นความสนุกและการมีส่วนร่วม ถ่ายทอดเป็นเนื้อเพลงและเครื่องดนตรีอย่างง่าย

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

  ปิดท้ายด้วย น.ส.ปาริชาด สอนสุภาพ  ประธานวิสาหกิจชุมชน Ecotourism Songkhla Thailand และ น.ส.พิชชาณี เตชะพิมานวงศ์ ผู้ก่อตั้ง Singora Comes Alive ผู้ประสานและดำเนินโครงการ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานว่า เพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของพี่น้องสองฝั่งทะเลสาบสงขลา สร้างรอยยิ้มและความสุข ได้แลกเปลี่ยนแนวความคิด วิถีชีวิตซึ่งกันและกัน ที่สำคัญ เพื่อสร้างจิตสำนึกรักบ้านเกิด ให้กับเด็กในชุมชน ให้พวกเขาได้เห็นคุณค่าความสามารถในตัวเองผ่านงานศิลป์สร้างสรรค์

OLYMPUS DIGITAL CAMERA