วันพฤหัสบดี, 23 มกราคม 2568

มรภ.สงขลา ทำวิจัยนวัตกรรมการจัดการท่องเที่ยวปลอดภัยแบบมีส่วนร่วม ต.เกาะยอ

มรภ.สงขลา ลงพื้นที่ ต.เกาะยอ ทำแผนงานวิจัยนวัตกรรมการจัดการท่องเที่ยวอย่างปลอดภัยแบบมีส่วนร่วม จัดเต็ม 3 โครงการย่อย 1. รูปแบบการจัดการอุบัติภัยฯ 2. รูปแบบการท่องเที่ยวที่ปลอดภัย 3.พัฒนาแอพพลิเคชัน แจ้งเตือนและเฝ้าระวังการเกิดเหตุ ช่วยสร้างความมั่นใจผู้มาเยือน สร้างมูลค่าเพิ่มทางการท่องเที่ยว จ.สงขลา  

ผศ.ดร.ศศลักษณ์ ทองขาว อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ในฐานะผู้อำนวยการแผนงานวิจัย เรื่อง “นวัตกรรมการจัดการการท่องเที่ยวอย่างปลอดภัยแบบมีส่วนร่วม ตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา” เปิดเผยว่า งานวิจัยที่จัดทำขึ้นแบ่งออกเป็น 3 โครงการย่อย ได้แก่ 1. รูปแบบการจัดการอุบัติภัยอย่างมีส่วนร่วมที่เกิดกับนักท่องเที่ยว และคนในชุมชนเกาะยอ มีนายวุฒิชัย อินทร์แก้ว เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย 2. รูปแบบการท่องเที่ยวที่ปลอดภัย ตำบลเกาะยอ มี รศ.ดร.พรทิพย์ เรืองธรรม เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย และ 3. การพัฒนาแอพพลิเคชันในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วม ซึ่งมีตนเป็นหัวหน้าโครงการวิจัย โดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีและโรงเรียนในเครือข่าย ตลอดจนตัวแทนมูลนิธิสถาบันนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาสังคม

ผศ.ดร.ศศลักษณ์ กล่าวว่า งานวิจัยเรื่อง รูปแบบการจัดการอุบัติภัยอย่างมีส่วนร่วมที่เกิดกับนักท่องเที่ยว และคนในชุมชนเกาะยอ จะช่วยให้ทราบถึงอุบัติภัยในรูปแบบต่างๆ ที่เกิดกับนักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่เกาะยอ ได้รูปแบบที่เหมาะสมในการจัดการกับอุบัติภัยนั้นๆ ได้นวัตกรรมในการจัดการกับอุบัติภัย ทั้งยังทำให้ภาคีที่เกี่ยวข้องกับการจัดการอุบัติภัย อันประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และ ภาคประชาสังคม ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดรูปแบบที่เหมาะสมกับการจัดการอุบัติภัย และเพื่อกำหนดมาตรการในการป้องกันอุบัติภัยในรูปแบบต่างๆ ที่จะเกิดกับนักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่เกาะยอ

ทั้งนี้ การมีรูปแบบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่เป็นมาตรฐาน มีรูปแบบที่ชัดเจนที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของชุมชนเอง ทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความเชื่อมั่นในการเดินทางมาพักผ่อนท่องเที่ยวยังตำบลเกาะยอ สร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่มากยิ่งขึ้น อีกทั้งการมีส่วนร่วมในการสร้างชุมชนให้ปลอดภัย และมีแนวทางในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นการส่งเสริมให้เกิดมาตรฐานของสถานที่พักอาศัย ทรัพยากรการท่องเที่ยวทางธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น รวมถึงศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต และสร้างความมีส่วนร่วมในชุมชน ทำให้เกิดการหวงแหนและชุมชนมีความสงบสุขมากยิ่งขึ้น

สำหรับงานวิจัยเรื่อง รูปแบบการท่องเที่ยวที่ปลอดภัย ตำบลเกาะยอ เป็นการสำรวจสถานการณ์การท่องเที่ยวในพื้นที่ตำบลเกาะยอ และพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวที่ปลอดภัย โดยชุมชนมีส่วนร่วม มีความสามัคคี มีความตระหนักและให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการบริการการท่องเที่ยว สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันท่วงที ประการสำคัญ ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการท่องเที่ยว ส่งเสริมการท่องเที่ยวในแหล่งธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น และแหล่งศิลปวัฒนธรรมที่คงไว้ซึ่งชีวิต ทรัพย์สินและทรัพยากรการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันประชาชนมีความภาคภูมิใจในการกำหนดข้อควรระวังชีวิต ทรัพย์สิน ทรัพยากรการท่องเที่ยว แนวทางในการแก้ไขอุบัติภัยและการจัดระเบียบให้เกิดความปลอดภัยในการท่องเที่ยวเกาะยอ หน่วยงานท้องถิ่นมีการจัดระเบียบความปลอดภัยและมีระบบการจัดการการเฝ้าระวังเกี่ยวกับสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่อย่างยั่งยืน

ในส่วนของงานวิจัยการพัฒนาแอพพลิเคชันในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วม เป็นการพัฒนาแอพลิเคชันเพื่อใช้ในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวที่ปลอดภัย โดยแอพพลิเคชันสามารถเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความช่วยเหลือเบื้องต้น การแก้ไขปัญหาในกรณีฉุกเฉิน และแอพพลิเคชันนี้ยังเชื่อมโยงกับโมบายแอพพลิเคชันที่สามารถจะแจ้งเตือนผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและอกชน สามารถเฝ้าระวังการเกิดเหตุต่างๆ และข้อมูลในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินได้ โดยแอพพลิเคชันจะจัดเก็บข้อมูลที่จำเป็นในการใช้งานเมื่อเกิดอุบัติภัยต่างๆ เช่น เบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉิน สามารถค้นหาได้ง่าย มีระบบการแจ้งเตือนไปยังนักท่องเที่ยวที่เข้ามายังบริเวณเกาะยอ โดยนักท่องเที่ยวจะต้องมีการลงทะเบียนเมื่อเข้ามาในพื้นที่

ข้อมูลต่างๆ ของนักท่องเที่ยวจะเป็นประโยชน์สำหรับชุมชน ในการดูแลและเฝ้าระวังหากเกิดอุบัติภัยต่างๆ แอพพลิเคชันอาจมีการบันทึกข้อมูลที่สำคัญไว้ โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของข้อมูล นอกจากนั้น แอพพลิเคชันนี้จะเป็นสื่อกลางในการให้ความรู้และมาตรฐานการท่องเที่ยว กฎระเบียบ และรูปแบบการช่วยเหลือโดยมีชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการ ที่สำคัญ เมื่อชุมชนมีความเข้มแข็ง ชุมชนสามารถรายงานข้อมูลเกี่ยวกับอุบัติภัยที่เกิดขึ้นบริเวณเกาะยอ  ให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่จะใช้ในการวางแผนการรักษาความปลอดภัยของชุมชนได้อีกด้วย ทั้งนี้เพื่อให้เกาะยอเป็นพื้นที่ชุมชนท่องเที่ยวที่ปลอดภัย และสร้างมูลค่าเพิ่มทางการท่องเที่ยวให้กับจังหวัดสงขลา