มรภ.สงขลา เยือนมาเลเซีย ถ่ายทอดการแสดงทางวัฒนธรรมสู่เยาวชนสยามรัฐเคดาห์ ภายใต้โครงการอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสาน ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ครั้งที่ 7 สำนักศิลปะฯ นำทัพทำกิจกรรมปรับพื้นฐานนาฏศิลป์ไทย เดินหน้าความร่วมมือแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและวิชาการระหว่างสองประเทศ
สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) นำโดย อาจารย์โอภาส อิสโม รองผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา พร้อมด้วยคณาจารย์ บุคลากร ตัวแทนนักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ ตัวแทนจากวัฒนธรรมจังหวัด และโรงเรียนเทศบาล 4 รวมกว่า 50 คน ร่วมกับสมาคมวัฒนธรรมไทย รัฐเคดาห์ มาเลเซีย ถ่ายทอดการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย ในโครงการอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสาน ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ครั้งที่ 7 กิจกรรมปรับพื้นฐานนาฏศิลป์ไทยเยาวชนสยามรัฐเคดาห์ ระหว่างวันที่ 20-24 ธันวาคม 2567 ณ วัดจันทร์หอม อ.เซะ รัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย โดยมี นายบ่าววง อินทารัตน์ สมาชิกสภาจังหวัดเคดาห์ เขตซีดำ เป็นประธานในพิธีเปิด กล่าวรายงานโดย นายเจริญ ศรีสุวรรณ รองนายกสมาคมวัฒนธรรมไทย เคดาห์
กิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและด้านวิชาการ ระหว่างสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา กับสมาคมวัฒนธรรมไทย รัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย ที่ลงนามร่วมกัน ณ ห้องประชุมอรัญ ธรรมโน มรภ.สงขลา เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566
ทั้งนี้ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา ได้นำการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยและการแสดงท้องถิ่นภาคใต้ ประกอบด้วย โนราบทระไวระเวก โนราตัวอ่อน โนราทำบท พรานโนรา ระบำศรีวิชัย ระบบาติก รำอยุธยา ฟ้อนขันดอก ฟ้อนที ฟ้อนวี รำจำปาศรี รำบ่าวผีตาโขนเกี้ยวสาวเมืองเลย กะลากันตรึม รำฉุยฉายนางเบญจากาย ระบำไกรลาศสำเริง รำซัดชาตรี ระบำชนไก่ หนังตะลุง วงลูกทุ่งวัฒนธรรม ไปจัดแสดง พร้อมทั้งแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติตามความสนใจ จำนวน 5 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มรำโนรา 2. กลุ่มดนตรีการแสดงพื้นบ้านโนรา 3. กลุ่มรำพราน (ออกพราน) 4. กลุ่มดนตรีพื้นบ้านกลองยาว 5. กลุ่มรำไทย ถ่ายทอดให้แก่เยาวชนสยามรัฐเคดาห์ จำนวน 230 คน
การเดินทางไปถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมของสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา มีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เป้าหมายที่ 4 สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป้าหมายที่ 11 ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ มีความครอบคลุม ปลอดภัย ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน เป้าหมายที่ 17 เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.skru.ac.th/th/photo/202412260
ข้อมูลและรูป โดย สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา/ เพจสยามเมืองยิ้ม Siamsmile