วันจันทร์, 13 มกราคม 2568

มรภ.สงขลา ติวเข้มอาจารย์-บุคลากร วิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคม “SROI”

มรภ.สงขลา จัดเวิร์กชอปติวเข้มวิเคราะห์หลักการประเมินผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน Social Return on Investment (SROI) เสริมศักยภาพบุคลากรฝึกเขียนโครงการวิจัยและโครงการยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัย ตอบโจทย์การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2566 รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการการประเมินผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน Social Return on Investment (SROI) กล่าวรายงานโดย ดร.นราวดี บัวขวัญ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ จัดโดยสถาบันวิจัยและพัฒนา ในวันที่ 15 และ 18-20 ธันวาคม 2566 ณ อาคารศูนย์ภาษาและคอมพิวเตอร์ และห้องประชุมชั้น 7 อาคารอำนวยการ เพื่อเสริมศักยภาพให้แก่อาจารย์และบุคลากรของ มรภ.สงขลา ในการเขียนโครงการวิจัยและโครงการยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีของประชากร สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและคุ้มค่ากับทุนวิจัยที่ได้รับจัดสรร ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศ

สำหรับวัตถุประสงค์ในการจัดโครงการดังกล่าว เพื่อพัฒนาศักยภาพนักวิจัย อาจารย์ และบุคลากร ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการประเมินผลตอบแทนทางสังคม กรอบคิดและเครื่องมือสําคัญในการประเมินผลตอบแทนทางสังคม ตัวชี้วัดและประเมินผลกระทบทางสังคม

สำหรับใช้ประกอบการจัดทำโครงการวิจัยและโครงการตามยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น สามารถนำความรู้ไปพัฒนาการเขียนโครงการฯ ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ อ.ดร.จตุรภัทร จันทร์ทิตย์ และ อ.ดร.พิมใจ พรหมสุวรรณ จากคณะวิทยาการจัดการ มรภ.สงขลา อ.ดร.ศศิพัชร์ สันกลกิจ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา อ.ดร.ฉัตรฤดี ศิริลำดวน จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผศ.ดร.ฮัมเดีย มูดอ และ อ.ดร.วิทวัส เหมทานนท์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดี มรภ.สงขลา กล่าวว่า การลงทุนทางสังคมมีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีของประชากรในประเทศ ตลอดจนการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่ด้วยเงินทุนวิจัยที่มีจำกัดทำให้รัฐบาลและหน่วยงานสนับสนุนการวิจัยต้องมั่นใจว่าเงินทุนที่จัดสรรให้แก่โครงการวิจัยต่าง ๆ ถูกนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ และก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม และสิ่งแวดล้อมที่คุ้มค่า ซึ่งการประเมินคุณค่าของโครงการเริ่มจากการประเมินผลผลิต (Output) ตามด้วยผลลัพธ์ (Outcome) และผลกระทบ (Impact) อาจกล่าวได้ว่า เป็นการประเมินว่าองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยพื้นฐาน จะสามารถนำไปใช้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำการประเมินว่าโครงการที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุน และดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้วนั้นมีความคุ้มค่าในการลงทุนหรือไม่ รวมถึงนำไปใช้ประโยชน์โดยกลุ่มเป้าหมายใดบ้าง ตลอดจนส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างไร ซึ่งคาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายสนับสนุนการจัดทำโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป