วันอาทิตย์, 12 มกราคม 2568

มรภ.สงขลา จัดอบรม “ITA” การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ สร้างความรู้ความเข้าใจ ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

มรภ.สงขลา จัดอบรม การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566” สร้างความรู้ความเข้าใจคณะทำงาน ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

วันที่ 25 มกราคม 2566 รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการอบรม เรื่อง “การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566” ณ ห้องประชุมพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ชั้น 7 อาคารอำนวยการ มรภ.สงขลา จัดโดย หน่วยตรวจสอบภายใน วิทยากรโดย นายปุริมปรัชญ์ หัวหน้ากลุ่มงานป้องกันการทุจริต สังกัดหน่วยงาน  สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสงขลา วัตถุประสงค์เพื่อให้คณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการดำเนินงาน และคณะทำงาน มีความรู้ความเข้าใจตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ตลอดจนได้รับทราบแนวทางการประเมินการรวบรวมข้อมูลและเตรียมหลักฐานที่เกี่ยวข้องในการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ได้อย่างถูกต้อง โดยมีผู้บริหาร อาจารย์ และบุคลากรของหน่วยงานต่างๆ ภายใน มรภ.สงขลา ซึ่งเป็นคณะทำงานในการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เข้าร่วมอบรมรวมจำนวนทั้งสิ้น 118 คน   

รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดี มรภ.สงขลา กล่าวว่า ปัจจุบันการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐได้ถูกกำหนดไว้ในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ ประเด็นการต่อต้านทุจริตและประพฤติมิชอบ (พ.ศ. 2561-2580) ซึ่งถือเป็นการยกระดับให้การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐให้เป็น “มาตรการป้องกันการทุจริตเชิงรุก” ที่หน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศจะต้องดำเนินการ โดยมุ่งหวังให้หน่วยงานภาครัฐที่เข้ารับการประเมินได้รับทราบผลการประเมินและแนวทางในการพัฒนาและยกระดับหน่วยงานในด้านคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานได้อย่างเหมาะสม

ที่ผ่านมาพบว่าหลายหน่วยงานนำการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐไปเป็นกรอบในการพัฒนาและยกระดับการบริหารจัดการให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล เกิดการปรับปรุงประสิทธิภาพในการให้บริการและการอำนวยความสะดวกต่อประชาชน ให้เข้าถึงการบริการสาธารณะด้วยความเป็นธรรมผ่านการปฏิบัติงานอย่างมีมาตรฐาน มีการประกาศขั้นตอนและระยะเวลาในการให้บริการอย่างชัดเจน นอกจากนี้ในด้านบริหารจัดการในหน่วยงานก็ยังพบว่าหน่วยงานให้ความสำคัญกับการป้องกันในประเด็นที่อาจเป็นความเสี่ยง หรือเป็นช่องทางที่อาจจะก่อให้เกิดการทุจริต การรับสินบน หรือก่อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน และสามารถยับยั้งการทุจริตหรือผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเท่าทันสถานการณ์ ซึ่งเมื่อหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศมีการป้องกันการทุจริตเชิงรุกในลักษณะดังกล่าวก็จะทำให้การทุจริตในภาพรวมของประเทศลดลงได้ในที่สุด ตลอดจนยังผลักดันให้เกิดทิศทางการพัฒนาและปรับปรุงการทำงานภายในหน่วยงานในภาพรวมของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย