
สถาบันวิจัยฯ มรภ.สงขลา จัดอบรมโต้ตอบสถานการณ์ฉุกเฉินจากการทำงานในห้องปฏิบัติการ เตรียมความพร้อมบุคลากรและนักศึกษาเรียนรู้การเอาตัวรอดในภาวะวิกฤติที่อาจส่งผลต่อชีวิตและทรัพย์สิน เทียบเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญถ่ายทอดความรู้ทำ CPR พร้อมฝึกซ้อมดับเพลิง และฝึกซ้อมอพยพหนีไฟออกจากตัวอาคาร

วันที่ 7 มีนาคม 2567 สถาบันวิจัยและพัฒนา โดยหน่วยศูนย์เครื่องมือกลาง มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การโต้ตอบสถานการณ์ฉุกเฉินจากการทำงานในห้องปฏิบัติการ” ณ อาคารสถาบันวิจัยและพัฒนา โดยมี อาจารย์พุฒิธร ตุกเตียน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มรภ.สงขลา เป็นประธานกล่าวเปิดและต้อนรับผู้เข้าอบรม ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายภิรมย์ จุลสุรางค์ และ นายวินิจ วารินสะอาด จาก บริษัท เซ้าเทอร์น เซฟตี้ จำกัด เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้และฝึกปฏิบัติการเกี่ยวกับการปฐมพยาบาล CPR การฝึกซ้อมดับเพลิง และการฝึกซ้อมอพยพหนีไฟออกจากตัวอาคาร

อาจารย์พุฒิธร กล่าวว่า การจัดอบรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้เข้าอบรมซึ่งเป็นบุคลากรสายวิชาการ บุคลากรสายสนับสนุน และนักศึกษา จำนวน 35 คน ให้สามารถปฏิบัติตัวได้ถูกต้องเมื่อพบเจอหรือได้รับเหตุอันตรายในการปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการ รวมทั้งการซ้อมดับเพลิง และการอพยพหนีไฟ ซึ่งสถาบันวิจัยและพัฒนา เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในการสนับสนุนการเรียนการสอน การบริการวิชาการ และบริการการใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์สำหรับงานวิจัย โดยส่วนใหญ่นักศึกษา อาจารย์ ที่เข้ามาใช้บริการจะเกี่ยวข้องกับการทำการทดลอง
ทั้งนี้ ปัจจุบันการทำงานภายในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์มีความสำคัญมาก จากการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดในห้องปฏิบัติการส่วนใหญ่นั้นมีสาเหตุมาจากตัวบุคคลเป็นผู้กระทำด้วยความประมาทหรือความมักง่ายเช่นไม่ปฏิบัติตามระเบียบคำสั่งและคำแนะนำ หรือการติดตั้งอุปกรณ์ไม่เหมาะสมถูกต้องกับกระบวนการทดลอง หรือใช้อุปกรณ์ผิดประเภท และอุบัติเหตุในห้องปฏิบัติการ เช่น การกลืนกินสารเคมี การสูดไอหรือก๊าซพิษ สารเคมีเข้าตา สารเคมีถูกผิวหนัง แก้วบาด หรือการเกิดไฟไหม้ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายตามมามากมาย บางครั้งเป็นความเสียหายร้ายแรงถึงเสียชีวิต ดังนั้น จำเป็นจะต้องมีความรู้ในเรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อเกิดอุบัติเหตุในห้องปฏิบัติการ ตลอดจนการเฝ้าระวังการเกิดอัคคีภัย การเกิดอุบัติเหตุหรืออันตรายประเภทอื่นๆ จึงนำมาสู่การอบรมในครั้งนี้
