
สำนักวิทยบริการฯ มรภ.สงขลา จัดอบรมภาษาอังกฤษสำหรับผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยว จ.สตูล สร้างความมั่นใจไกด์ท้องถิ่นพัฒนาทักษะสื่อสารกับชาวต่างชาติ พร้อมนำลงพื้นที่อุทยานธรณีโลกถ้ำทะลุ ชุมชนบ้านหาญ เขตข้ามกาลเวลา สัมผัสภูมิปัญญาความงดงามปันหยาบาติก

เมื่อวันที่ 10-12 มีนาคม 2567 สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยงานศูนย์ความเป็นเลิศด้านภาษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา จัดโครงการพัฒนาสมรรถนะภาษาอังกฤษเพื่อการยกระดับสู่สากล กิจกรรมที่ 6 อบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ภาษาอังกฤษสำหรับผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยว” ณ วิทยาลัยชุมชนสตูล และสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดสตูล โดยมี ผศ.ดร.อนุมัติ เดชนะ รองอธิการบดีวิทยาเขตสตูล เป็นประธานในพิธีเปิด กล่าวรายงานโดย อาจารย์เสรี ชะนะ ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมีอาจารย์ชาวไทยและชาวต่างชาติ มรภ.สงขลา ได้แก่ ผศ.ดร.ปนัดดา ศิริพานิช ผศ.ดร.มรกต ดิษฐาอภิชัย อาจารย์ ดร.นิสิตา ฤทธาภิรมย์ Mr. Robert Steven Judge และ Mr.Ngachonpam Horam เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้แก่ผู้เข้าอบรม

ผศ.ดร.อนุมัติ เดชนะ รองอธิการบดีวิทยาเขตสตูล กล่าวว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้เป็นการเสริมสร้างบรรยากาศการเรียนรู้โดยการฟังบรรยายและทำกิจกรรมกลุ่ม และเก็บเกี่ยวประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ โดยการลงปฏิบัติในพื้นที่สถานที่ท่องเที่ยวจริง ทั้งการสำรวจพื้นที่อุทยานธรณีโลกอย่างถ้ำทะลุและชุมชนบ้านหาญ การเรียนรู้พื้นที่เขตข้ามกาลเวลา ณ หมู่เกาะเภตรา และการสัมผัสภูมิปัญญาพื้นบ้าน ณ ปันหยาบาติก ซึ่งจังหวัดสตูลเป็นอีกจุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ต้องการมาสัมผัสการผจญภัยที่ผสมผสานระหว่างธรรมชาติที่สวยงาม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน ประกอบกับการท่องเที่ยวถือเป็นอุตสาหกรรมบริการที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมหลักที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศในอันดับต้น ๆ นับได้ว่ามีส่วนช่วยเสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

นอกจากนั้น นักท่องเที่ยวยังได้สัมผัสและมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น การทำผ้าบาติก ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้ภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างรายได้ให้กับชุมชน และก่อให้เกิดความความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนและนักท่องเที่ยว ซึ่งจะนำไปสู่วงจรการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนในอนาคต ตนเชื่อมั่นว่าการจัดอบรมในครั้งนี้ จะทำให้ผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวมีความมั่นใจในการนำภาษาอังกฤษไปใช้สื่อสารในสถานการณ์จริง เพื่อนำรายได้เข้าสู่ชุมชน ส่งเสริมการท่องเที่ยว และเผยแพร่สถานที่ที่มีความสวยงาม รวมถึงวัฒนธรรมท้องถิ่น วิถีชุมชนที่เป็นเอกลักษณ์สู่สายตาชาวโลก

ด้าน อาจารย์เสรี ชะนะ ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มรภ.สงขลา กล่าวว่า โครงการพัฒนาสมรรถนะภาษาอังกฤษเพื่อการยกระดับสู่สากล เป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ที่มุ่งหวังให้ผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวมีทักษะในการสื่อสารภาษาอังกฤษ เพื่อใช้ในการสื่อสารและถ่ายทอดเรื่องราว ความรู้เกี่ยวกับสถานที่ต่าง ๆ มีความสามารถในการประสานงาน ให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ สร้างความประทับใจ ให้กับนักท่องเที่ยว ดังนั้น งานศูนย์ความเป็นเลิศด้านภาษา จึงได้จัดอบรมแก่ผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยว จังหวัดสตูล จำนวน 50 เพื่อพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษ มีความเข้าใจ มั่นใจในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวที่น่าสนใจเพิ่มมากขึ้น และสามารถให้บริการข้อมูลต่าง ๆ แก่นักท่องเที่ยวชาวชาติได้เป็นอย่างดี
