วันจันทร์, 30 ธันวาคม 2567

มรภ.สงขลา จัดอบรมทักษะกลไกเพื่อพัฒนานักศึกษาพิการในศตวรรษที่ 21 ต่อยอดกิจกรรมด้านการเรียนการสอน ช่วยเหลือเด็กที่มีความต้องการพิเศษ

สถาบันพัฒนาการศึกษาพิเศษ มรภ.สงขลา จัดอบรมทักษะกลไกเพื่อพัฒนานักศึกษาพิการในศตวรรษที่ 21 ในรูปแบบออนไลน์ วันที่ 23-24 ส.ค. 64 จับมือภาคีเครือข่ายร่วมช่วยเหลือเด็กที่มีความต้องการพิเศษ พร้อมเทียบเชิญวิทยากรถ่ายทอดความรู้ ต่อยอดสู่กิจกรรมด้านการเรียนการสอน

                ผศ.ดร.โสภณ ชัยวัฒนกุลวานิช รักษาการผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการศึกษาพิเศษ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า สถาบันพัฒนาการศึกษาพิเศษจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ทักษะกลไกเพื่อพัฒนานักศึกษาพิการในศตวรรษที่ 21 ระหว่างวันที่ 23-24 สิงหาคม 2564 ในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบ ZOOM โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดี มรภ.สงขลา เป็นประธานในพิธีเปิด วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสมองด้วยทักษะกลไกสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษและนักศึกษาพิการ รวมทั้งเพื่อส่งเสริมการทำงานในลักษณะภาคีเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาเด็กที่มีความต้องการพิเศษและนักศึกษาพิการ โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 80 คน ประกอบด้วย อาจารย์และบุคลากร สถาบันพัฒนาการศึกษาพิเศษ มรภ.สงขลา ผู้ปกครองเด็กที่มีความต้องการพิเศษและบุคลากรทางการศึกษา  นักศึกษาหลักสูตรการศึกษาพิเศษ-ภาษาไทย และนักศึกษาพิการ 

                ผศ.ดร.โสภณ กล่าวว่า ผู้เข้าอบรมจะได้รับความรู้จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ดร.ธนา กิติศรีวรพันธุ์ ประธาน Brain Sports Edutainment Academy ซึ่งจะมาบรรยายในเรื่องทฤษฎีและงานวิจัยระบบสมองและ Motor Learning, การไขว้นิ้ว, Bim Bum, Cup Song, Bottle Ball, Hole in One, One Ball, Two Ball, Juggling, Bamboo Stick, Setting Ball, Motor Educability, Boost the Brains, นักเรียน : กระตุ้นสมองและสติปัญญา, ครู : กระตุ้น Active เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน, ผู้สูงวัย : เพิ่มความจำ ป้องกันหรือชะลออาการอัลไซเมอร์ โดยคาดหวังว่าผู้เข้าอบรมจะนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับไปใช้ในการพัฒนากิจกรรมด้านการเรียนการสอน เพื่อช่วยเหลือเด็กที่มีความต้องการพิเศษหรือนักศึกษาพิการได้อย่างถูกต้อง

                ด้าน อาจารย์หทัยรัตน์ ศรีชัยชนะ หัวหน้าหน่วยบริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษและครอบครัว สถาบันพัฒนาการศึกษาพิเศษ มรภ.สงขลา ผู้เสนอโครงการ กล่าวว่า พัฒนาการของเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงระดับประถมศึกษา ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อพัฒนาการเรียนรู้และคุณภาพชีวิตของบุคคลนั้นในอนาคต ในวัยเด็กการเคลื่อนไหวเบื้องต้นเป็นการเคลื่อนไหวที่เป็นไปตามธรรมชาติของร่างกายและความรู้สึกของการทำงานประสานกัน ระหว่างระบบประสาทและกล้ามเนื้ออย่างแท้จริง การเคลื่อนไหวเบื้องต้นจะนำไปสู่ทักษะเบื้องต้นเหล่านี้ ถ้ากิจกรรมในการสอนช่วยเด็กเคลื่อนไหวอย่างถูกต้องตั้งแต่ต้น จะช่วยให้เด็กได้มีพัฒนาการในด้านทักษะพื้นฐานและการทำงานประสานกันระหว่างระบบประสาทและกล้ามเนื้อ

นอกจากนั้น ยังช่วยให้เด็กมีความเข้าใจในความสามารถของส่วนต่างๆ ของร่างกายตนเองได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะเป็นการนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจและการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายในระดับที่สูงต่อไป จะเห็นได้ว่าพัฒนาการด้านการทักษะการเคลื่อนไหวของเด็กเกิดขึ้นได้ตามช่วงวัยที่เหมาะสม การเคลื่อนไหวร่างกายแต่ละส่วนนั้นจะมีกล้ามเนื้อเป็นตัวเคลื่อนไหว แต่สมองจะเป็นตัวสั่งการ ซึ่งการเคลื่อนไหวจะมีประสิทธิภาพหรือไม่ขึ้นอยู่กับการสั่งการของสมองกับระบบประสาท การเคลื่อนไหว หากมีการจัดกิจกรรมหรือจัดแผนที่ให้สมองอย่างมีระบบ จะทำให้สมองพัฒนาต่อเนื่องอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งกระบวนการคิดและการตัดสินใจ