คณะวิทยาศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา จัดค่ายพัฒนาศักยภาพหลักสูตรและครูผู้สอนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาในระบบการศึกษาด้วยแนวทางฐานสมรรถนะวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี สู่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 จับมือเครือข่ายถ่ายทอดชุดการเรียนรู้พร้อมเครื่องมือสำหรับการสอนให้แก่ครูในพื้นที่อ.จะนะ เทพา นาทวี สะบ้าย้อย ลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงการศึกษา ภายใต้แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้
ผศ.ขวัญกมล ขุนพิทักษ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) กล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการค่ายพัฒนาศักยภาพหลักสูตรและครูผู้สอนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาในระบบการศึกษาด้วยแนวทางฐานสมรรถนะวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี สู่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เมื่อวันที่ 19-20 พฤษภาคม 2566 ณ ห้องประชุมคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.สงขลา ว่า วัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของครู/อาจารย์ในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามในการให้ความร่วมมือกับภาครัฐภายใต้มิติด้านการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งเพื่อพัฒนาปรับปรุงกระบวนการจัดการศึกษา และเพื่อติดตาม ให้คำปรึกษาการสอนจริงในชั้นเรียนผ่านการสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การสอนในชั้นเรียน
ถือเป็นโอกาสอันดีที่คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับความร่วมมือในการจัดโครงการด้วยทีมวิทยากรจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) สงขลา สตูล คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะครุศาสตร์ และคณาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.สงขลา ในการถ่ายทอดชุดการเรียนรู้พร้อมเครื่องมือสำหรับการสอนให้แก่ครูในโรงเรียนเป้าหมายความร่วมมือที่เข้าร่วมโครงการจากสังกัดสำนักงานการศึกษาเอกชน ควบคู่ไปกับการมอบโอกาสการเรียนรู้ประสบการณ์ เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางศาสตร์พระราชา “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ซึ่งทางผู้จัดเล็งเห็นถึงโอกาสของการเติมเต็มกรอบแนวคิดด้านวิทยาศาสตร์และการคิดวิเคราะห์ ภายใต้เหตุผลที่อ้างอิงและอธิบายได้โดยผู้เรียน เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันทางความคิดผ่านการศึกษา
ด้าน ผศ.ดร.ทวีสิน นาวารัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.สงขลา กล่าวว่า โครงการในครั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมที่ 1 ค่ายพัฒนาศักยภาพหลักสูตรและครูผู้สอนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาในระบบการศึกษาด้วยแนวทางฐานสมรรถนะวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี สู่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ระหว่างวันที่ 19-20 พฤษภาคม 2566 มีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 70 คน กิจกรรมที่ 2 กระบวนการติดตามและประเมินผล (PLC) ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน- 31 กรกฎาคม 2566 ณ โรงเรียนมัธยมปลายสังกัดสำนักงานการศึกษาเอกชน และโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสงขลา สตูล ในพื้นที่ 4 อำเภอ จังหวัดสงขลา (เทพา จะนะ นาทวี สะบ้าย้อย)
ทั้งนี้ ตามแผนปฏิบัติการด้านการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ศ. 2566 – 2570) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ อ้างอิงกรอบแนวคิดเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมตามบริบทพื้นที่การบริการของ มรภ.สงขลา ใน 4 อำเภอสำคัญของจังหวัดสงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี และ สะบ้าย้อย ตามจุดเน้นสำคัญเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาตามภูมิศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ และด้านการศึกษา เพื่อลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ทางคณะฯ เล็งเห็นถึงข้อจำกัดของการถ่ายทอดความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งประกอบด้วยคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในด้านสื่อการสอนหรือกระดาษ ดังนั้น จึงนำมาสู่จัดโครงการในครั้งนี้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงการศึกษา ภายใต้แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ และสร้างเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ตามฐานสมรรถนะ เพื่อร้อยสู่กิจกรรมในชั้นเรียนที่สร้างเสริมกรอบแนวคิดของผู้เรียนที่ใช้หลักการและเหตุผลในการวิเคราะห์ปัญหา โดยไม่ใช้เพียงความเชื่อเพียงอย่างเดียว เพื่อเป็นแนวทางในด้านการพัฒนาผู้เรียนในพื้นที่เป้าหมาย