วันอาทิตย์, 8 กันยายน 2567

มทภ.4 เป็นประธานเปิด “พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ปิยะมิตร” แหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของพื้นที่ชายแดนไทย – มาเลเซีย

วันนี้ (20 กรกฎาคม 2567) เวลา 09.00 น. พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เป็นประธานในพิธีเปิด “พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ปิยะมิตร” ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์และของใช้ของพรรคคอมมิวนิสต์มาเลเซีย ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของพื้นที่ชายแดนไทย – มาเลเซีย และสามารถเชื่อมต่อเรื่องราวจากอดีตที่ผ่านมากว่าศตวรรษ ให้ลูกหลานคนรุ่นหลังได้เรียนรู้รากเหง้าความเป็นมาของตนเอง โดยมี นายอำพล พงศ์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา, พลตรี นิติ ติณสูลานนท์ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา, นายอำเภอเบตง, นายกเทศมนตรีเมืองเบตง, ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ปิยะมิตรเบตง, ส่วนราชการ, สื่อมวลชนและพี่น้องประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับ

โอกาสนี้ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 กล่าวว่า “พิพิธภัณฑ์ทางประวัติศาสตร์ปิยะมิตร คือพื้นที่ที่ให้ความสำคัญในการสืบสาน รักษา ต่อยอดข้อมูลทางประวัติศาสตร์และของใช้ของพรรคคอมมิวนิสต์มาเลเซียซึ่งเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของพื้นที่ชายแดนไทย – มาเลเซีย และประเทศชาติที่ไม่สามารถจะปล่อยให้เลือนหายไปตามกาลเวลาได้ ซึ่งหลังจากการเจรจาสันติภาพไตรภาคี และมีการลงนามเพื่อยุติสถานการณ์การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์มาเลเซีย เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2532 สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มาเลเซียได้เข้าร่วมเป็นผู้พัฒนาชาติไทย ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือสมาชิกได้ร่วมกันปฏิบัติจนเห็นเป็นรูปธรรม เช่น การพัฒนาพื้นที่ป่าเขาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นอุโมงค์ปิยะมิตร สวนหมื่นบุปผา สวนส้มโชกุน สวนทุเรียนสายพันธุ์ต่าง ๆ และการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ เช่น ไก่เบตง ปลากือเลาะ และในธรรมชาติของที่นี่ ที่มีสายน้ำบริสุทธิ์ล้วนเกิดจากภูมิปัญญาของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มาเลเซียได้กลายเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถสร้างคุณภาพชีวิต สร้างสังคมที่เข้มแข็ง สร้างแหล่งท่องเที่ยวจนมีชื่อเสียง เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ เป็นการขับเคลื่อน Soft Power อย่างแท้จริง”

สำหรับพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ปิยะมิตร ได้แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 2 ชั้น ในชั้นที่ 1 ได้จัดแสดงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในช่วงการต่อสู้, การพัฒนาชุมชนหลังจากการวางอาวุธ, ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับสังคมภายนอก ในส่วนของชั้นที่ 2 ที่กำลังดำเนินการก่อสร้างนั้น จะแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ 60 ปี ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแห่งชาติในมาเลเซีย, การก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ในมาเลเซีย, การต่อต้านญี่ปุ่นและอังกฤษ ทั้งนี้พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ปิยะมิตรยังเป็นสัญลักษณ์ของความปรองดองและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมพหุวัฒนธรรม