วันอาทิตย์, 2 กุมภาพันธ์ 2568

พิพากษาจำคุก ครูฝึก/ผู้ชักชวนสาบานตน (ซุมเปาะห์) และผู้ให้การสนับสนุนผู้ก่อเหตุรุนแรง

จากกรณีเจ้าหน้าที่ได้บังคับใช้กฎหมาย และได้ควบคุมตัว นายอัครเดช (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาตามหมายจับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และ หมายจับพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยได้ให้การยอมรับว่าได้ชักชวน นายซุลกิฟลี (สงวนนามสกุล) ให้ร่วมสาบานตน (ซุมเปาะห์) และฝึกยุทธวิธีเพื่อเข้าเป็นแนวร่วมขบวนการผู้ก่อเหตุรุนแรง ในพื้นที่หมู่ที่ 5 ตำบลสาบัน อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2564

ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2568 ศาลจังหวัดปัตตานีอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 9 จาก “ยกฟ้องจำเลยทั้ง 4” กลับเป็นให้ลงโทษ “จำคุก นายอัครเดช (สงวนนามสกุล) จำเลยที่ 1 จำนวน 9 ปี และจำคุกนายซุลกิฟลี (สงวนนามสกุล) จำเลยที่ 2 จำนวน 3 ปี” เนื่องจากศาลฎีกาเชื่อในพยานหลักฐานซึ่งเป็นบันทึกคำให้การในชั้นดำเนินกรรมวิธีซักถาม โดยจำเลยที่ 1 รับสารภาพต่อเจ้าหน้าที่ซักถามว่า ได้เข้าร่วมขบวนการผู้ก่อเหตุรุนแรง โดยเป็นครูฝึกให้จำเลยที่ 2 ในการฝึกยุทธวิธีชั้นปอเนาะ และจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ให้การส่งเสบียงและแหล่งหลบซ่อนตัวแก่ผู้ก่อเหตุรุนแรง ที่มีหมายจับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อีกทั้งจำเลยที่ 1 และ 2 ได้ดูความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่เพื่อป้องกันเจ้าหน้าที่รู้ที่หลบซ่อนตัวของผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ดังกล่าว พร้อมพาเจ้าหน้าที่ทำแผนประกอบคำรับสารภาพ อันเป็นการเชื่อมโยงในความผิดที่ จำเลยที่ 1 และ 2 ได้กระทำ ศาลฎีกาจึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 และ 2 ได้กระทำผิดจริงตามที่โจทก์ฟ้อง จึงให้จำคุกจำเลยที่ 1 ในความผิดฐาน สะสมกำลังพล และอาวุธเพื่อก่อการร้ายฯ จำนวน 6 ปี และความผิดฐาน อั้งยี่ จำนวน 3 ปี และลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ในความผิดฐาน อั้งยี่ จำนวน 3 ปี คำให้การของจำเลยทั้ง 2 เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาให้ลดโทษจำนวน 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 1 จำนวน 6 ปี และจำคุกจำเลยที่ 2 จำนวน 2 ปี ส่วนกรณีของ จำเลยที่ 3 และที่ 4 โจทก์ไม่ฎีกา มีผลให้จำเลยที่ 3 และ 4 ได้รับการปล่อยตัว ตั้งแต่ชั้นอุทธรณ์ และคดีสิ้นสุด (คดีสิ้นสุดจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามคำพิพากษา อ.750/64)