วันจันทร์, 18 พฤศจิกายน 2567

พิธีอำลาธงชัยเฉลิมพลและผู้บังคับบัญชา ทหารกองประจำการที่ครบกำหนดปลดออกจากกองประจำการ ร.152 ดำรงไว้ซึ่งความภาคภูมิ

วันที่ 31 ตุลาคม 2567 เวลา 08.30 น. ณ ศาลาพินประเสริฐ ค่ายสิรินธร ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี พันเอก สิทธิศักดิ์ เจนบรรจง ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 152 เป็นประธานในพิธีอำลาธงชัยเฉลิมพล ของทหารกองประจำการ รุ่นปี 2565 ผลัดที่ 2 หน่วยขึ้นตรงกองพลทหารราบที่ 15 ซึ่งจะปลดประจำการเป็นทหารกองหนุน ในวันที่ 31 ตุลาคม 2567 จำนวนทั้งสิ้น 249 นาย ในพิธีที่จัดขึ้นได้มีการมอบประกาศเกียรติคุณรางวัลให้กับทหารกองประจำการที่มีความประพฤติและวินัยดีเยี่ยม พร้อมทั้งกล่าวให้โอวาท แสดงความยินดี และยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อวยพรให้ประสบความสำเร็จในสิ่งอันพึงปรารถนา โดยในพิธีมีพระสงฆ์ปะพรมน้ำพระพุทธมนต์เพื่อเป็นสิริมงคลแก่กำลังพล ผู้แทนทหารกองประจำการที่จะปลดจากกองประจำการกล่าวอำลาผู้บังคับบัญชา และพิธีสวนสนามอำลาธงชัยเฉลิมพลและผู้บังคับบัญชา ซึ่งเป็นพิธีอันทรงเกียรติ สร้างภาคภูมิใจแก่เหล่ากำลังพลน้อง ๆ ทหารที่จะปลดจากกองประจำการ

สำหรับ “ธงชัยเฉลิมพล” เป็นธงที่ใช้ในพิธีทหารและราชการทหารของประเทศไทย มีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเป็นสัญลักษณ์แห่งเกียรติยศ ศักดิ์ศรี และความกล้าหาญของทหารไทย ธงชัยเฉลิมพลนี้จะได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ ทำให้ธงนี้มีความเป็นสิริมงคลสูงสุด โดยความหมายสำคัญของธงชัยเฉลิมพลมี 3 ประการ คือ ผืนธง หมายถึง ชาติ บนยอดธงบรรจุพระพุทธรูป หมายถึง พุทธศาสนา และเส้นพระเกศาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หมายถึง องค์พระมหากษัตริย์ โดยธงนี้จะมอบให้แก่หน่วยทหารต่าง ๆ และมีการนำมาใช้ในการเดินสวนสนามหรือในพิธีสำคัญของทหาร เช่น การสาบานตนต่อธงชัยเฉลิมพลเพื่อแสดงถึงความจงรักภักดีและความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นต้น

ในการนี้ พันเอก สิทธิศักดิ์ เจนบรรจง ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 152 กล่าวว่า “การปลดประจำการวันนี้ไม่ใช่เป็นการปลดภาระหน้าที่ในการป้องกันประเทศ ลักษณะวิธีปฏิบัติที่แตกต่างออกไปและประเทศของเรายังมีภัยคุกคามหลายด้าน ทั้งจากภายนอกประเทศและภายในประเทศทั้งในเรื่องยาเสพติด การทำลายทรัพยากรธรรมชาติหรือกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติต่าง ๆ ซึ่งพวกเราสามารถให้การช่วยเหลือ เช่น ด้านการข่าว ด้านการประชาสัมพันธ์ที่ถูกต้อง การเข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชนเพื่อกิจกรรมส่วนรวม เป็นต้น จึงขอให้ท่านรำลึกถึงภาระหน้าที่นี้ ตลอดจนนำความรู้ ประสบการณ์ที่ได้รับระหว่างการเข้ามารับราชการในครั้งนี้ไปใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตส่วนตนและส่วนรวมด้วยการประกอบอาชีพที่สุจริตเป็นคนดีของสังคม เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติบ้านเมืองสืบไป”