วันศุกร์, 15 พฤศจิกายน 2567

พิธีถวายผ้ากฐินและผ้าป่าพัฒนาวัดจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา

วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 เวลา 10.00 น. ที่ ศูนย์ปฏิบัติธรรมภาคใต้ ตำบลท่าช้าง อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา พลตรี ปกรณ์ จันทรโชตะ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 เป็นผู้แทน พลโท ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ร่วมในพิธีถวายผ้ากฐิน และผ้าป่าพัฒนาวัดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ตลอดจนเพื่อเป็นการสืบสานวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของพุทธศาสนิกชนในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป โดยมี สมเด็จพระมหาวชิรมังคลาจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนใต้ เจ้าอาวาสวัดกระพังสุรินทร์ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วย นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา, นายเศวต เพชรนุ้ย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา, นายไชยพร นิยมแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี, นายวีรพัฒน์ บุณฑริก รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ตลอดจน ผู้บริหาร, ข้าราชการ, เจ้าภาพกฐิน และพี่น้องประชาชน เข้าร่วมในพิธี

 นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ร่วมกับ พระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล คณะสงฆ์หนใต้ และวัดพระธรรมกาย ศูนย์ปฏิบัติธรรมภาคใต้ จังหวัดสงขลา สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จังหวัดสงขลา จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดปัตตานี ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกันจัดโครงการถวายผ้ากฐินและผ้าป่าพัฒนาวัดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยการถวายผ้ากฐินและผ้าป่าพัฒนาวัดในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น จะได้นำไปถวายให้กับวัดพุทธในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 301 วัด ในจังหวัดสงขลา จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดปัตตานี ที่ตกค้างกฐิน ไม่มีเจ้าภาพกฐิน หรือบางวัดก็จัดเป็นทอดผ้าป่าเพื่อทำนุบำรุงวัดและเป็นกำลังใจให้กับพระสงฆ์ที่อยู่ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาประจำจังหวัด ได้ทำการสำรวจวัดที่ต้องการความช่วยเหลือวัดที่ไม่มีเจ้าภาพในการทอดกฐิน ทั้งธรรมยุตและมหานิกาย ซึ่งมีพระสงฆ์ยังอยู่ในพื้นที่เนื่องจากเป็นวัดบ้านเกิด และมีความประสงค์ที่จะรักษาพระพุทธศาสนาให้อยู่ในแผ่นดินเกิด ซึ่งประเพณีการทอดกฐินของพุทธศาสนิกชนไทยมีมาช้านาน โดยมีทั้งพิธีหลวงและพิธีราษฎร์ โดยการถวายผ้าพระกฐินพระราชทานของพระมหากษัตริย์จัดเป็นพระราชพิธีที่สำคัญที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี

ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อว่า พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่ที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบ มานานหลายปีทำให้มีวัดและที่พักสงฆ์จำนวนมากตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย มีกฐินตกค้าง เพราะไม่มีผู้ใดรับเป็นเจ้าภาพกฐิน กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งมีหน้าที่ทำนุบำรุง ศิลปะ ประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม และคณะ พระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย – เนปาล นำโดยพระธรรมโพธิวงศ์ หัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย – เนปาล เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา พระวิเทศวัชราจารย์ เลขานุการหัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย – เนปาล ทำหน้าที่พระธรรมทูตเผยแผ่พระพุทธศาสนา เห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้ดำเนินการจัดโครงการถวายผ้ากฐินและผ้าป่าพัฒนาวัดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ตลอดจนเพื่อเป็นการสืบสานวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของพุทธศาสนิกชนในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป ซึ่งจากการสำรวจพบว่า วัดที่จะรับการทอดถวายผ้ากฐิน จำนวน 3 วัด ถวายผ้ากฐินสมทบ จำนวน 11 วัด และถวายผ้าป่า จำนวน 288 วัด รวมทั้งสิ้น 302 วัด