วันพฤหัสบดี, 14 พฤศจิกายน 2567

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นผู้แทนพระองค์ในพิธีมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ผ่านการอบรมในโครงการพระราชทาน “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” กรมราชทัณฑ์ รุ่นที่ 5 จำนวน 150 คน ณ ทัณฑสถานบําบัดพิเศษสงขลา

วันที่ 24 พ.ย. 63 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นผู้แทนพระองค์ในพิธีปิดโครงการพระราชทาน “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” รุ่นที่ 5 ณ ทัณฑสถานบําบัดพิเศษสงขลา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา และมอบเกียรติบัตรให้แก่ผู้ต้องขังที่ผ่านการฝึกอบรม จำนวน 150 คน เป็นคนไทย 149 คน และชาวต่างชาติ 1 คน โดยมีนายสมพงศ์ สนิทมัจโร ผู้อำนวยการทัณฑสถานบำบัดพิเศษสงขลา หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมราชทัณฑ์เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง

 นายสมพงศ์ สนิทมัจโร ผู้อำนวยการทัณฑสถานบำบัดพิเศษสงขลา กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน ให้มีการฝึกโครงการพระราชทาน โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง ทัณฑสถานบําบัดพิเศษสงขลา กรมราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้ทฤษฎีใหม่แบบชาวบ้าน ปั้นโคก ขุดหนอง ทำนา เพื่อสร้างต้นแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ขนาดเล็ก โดยสามารถดำเนินการได้ในทุกเรื่อง และมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพื้นฐานความคิดการฝึกวินัย การลงมือปฏิบัติ ตลอดจนการแก้ปัญหาในสถานการณ์จริงเพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถพึ่งพาตนเองและช่วยเหลือผู้อื่นที่ได้รับความ เดือดร้อนได้เมื่อพ้นโทษออกไป

โดยปฏิบัติการฝึกอบรมเป็นเวลา 14 วัน ระหว่างวันที่ 10 – 23 พฤศจิกายน 2563 แบ่งการฝึกเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นที่ 1 การอบรมพึ่งตนด้วยทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ขั้นที่ 2 การแปลงทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ ประกอบด้วย การออกแบบแนวความคิดการบริหารจัดการพื้นที่ขนาดเล็ก การประยุกต์ทฤษฎีใหม่ แบบชาวบ้าน ปั้นโคก ขุดหนอง ทำนา ตามภูมิสังคมลงบนกระดาษ การสร้างพื้นที่จำลอง (Table Top Exercise) และวางแผนการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อพออยู่ พอกิน พอใช้ และพอร่มเย็น การปฏิบัติในพื้นที่จริงขนาด 100 ตารางเมตร ตามทฤษฎีใหม่แบบชาวบ้าน ปั้นโคก ขุดหนอง ทำนา ตามภูมิสังคม และขั้นที่ 3 การสรุปและประเมินผล

ขณะนี้การฝึกอบรม ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นครบถ้วนตามหลักสูตรการฝึก ผลการฝึกอยู่ในเกณฑ์ดีมาก มีผู้สำเร็จการฝึกอบรม จำนวน 150 คน จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาผู้เข้ารับการฝึกสามารถพึ่งตนเอง ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ทั้งสามารถช่วยเหลือประชาชน ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมได้ หลังจากนี้ผู้ต้องขังที่จะรับการพ้นโทษในโอกาสต่อไป จะต้องไปดำเนินการในพื้นที่ตามภูมิลำเนาของตนเอง อันเป็นการสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิ พลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยการถ่ายทอดความรู้ความ เข้าใจแก่ประชาชน เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และช่วยกันพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวต่อไป

ศิริลักษณ์ แคล้วคลาด /ข่าว-ภาพ

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา