วันนี้ ( 21 สิงหาคม 2567 ) เวลา 10.00 น. ที่ โรงแรมสยามออเรียนทัล อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พลโท ธัชพล เปี่ยมวุฒิ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่องการสนับสนุนและการใช้งานเครือข่ายมวลชน เพื่องานด้านความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี พลตรี เฉลิมพงค์ คงบัว เลขาธิการ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า, ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้, ผู้แทนสำนักประชาสัมพันธ์เขต 6, สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้, ฝ่ายอำนวยการ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า , ทหาร, ตำรวจ, หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมประชุมฯ
โอกาสนี้ พลโท ธัชพล เปี่ยมวุฒิ เปิดเผยว่า หน่วยงานทหาร ตำรวจ พลเรือน และภาคประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่างระดมความคิด ทุ่มเททรัพยากร และบูรณาการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ จนสถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ เพื่อนำสันติสุขกลับคืนแก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ พร้อมย้ำว่ากลุ่มผู้ไม่หวังดียังคงพยายามสร้างสถานการณ์ บิดเบือนข้อเท็จจริง ปล่อยข่าวลวง ดังนั้นการขับเคลื่อนงานมวลชนภาคประชาสังคมให้เป็นพลังมวลชนเชิงยุทธศาสตร์ จึงสำคัญยิ่งในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีทิศทางเดียวกันตามนโยบายของรัฐบาล เน้นพัฒนาศักยภาพมวลชน เพื่อบูรณาการการทำงานของทุกเครือข่ายให้มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทุกมิติ
สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ได้เชิญวิทยากรร่วมบรรยายพิเศษโดย อาจารย์ จตุพล ชมภูนิช ให้ความรู้งานเกี่ยวกับ “งานมวลชนภาคประชาสังคมและประชาสัมพันธ์ ในบทบาทกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ในโลกปัจจุบันและอนาคต” และพบการบรรยายพิเศษเรื่อง “กัมปงตักวา สภาสันติสุขตำบล” โดย พันเอก ปฐพี พุทธผล ผู้อำนวยการกองสันติวิธี ศูนย์สันติวิธี อีกทั้งในปีนี้ได้จัดให้มีเวทีสานเสวนา ในหัวข้อ “เยาวชนไทยจะเจริญเติบโตไปอย่างไร” ซึ่งเป็นเวทีเชิงวิชาการที่จะนำเสนอมุมมองของเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต นอกจากนี้จัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ทบทวนแนวทางวิเคราะห์ประเด็นด้านการประชาสัมพันธ์ รวมถึงแบ่งกลุ่ม Work-Shop เป็น 3 ระดับ คือระดับผู้บริหาร, ผู้บังคับบัญชา และ ฝ่ายอำนวยการ เป็น 4 กลุ่มงาน ประกอบด้วย งานมวลชนและภาคประชาสังคมที่จะสนองตอบยุทธศาสตร์ชาติอย่างยั่งยืน, ประชาสัมพันธ์อย่างไรในยุคปัจจุบัน, การดำเนินงานมวลชนและภาคประชาสังคม , และประชาสัมพันธ์อย่างไรที่เข้าถึงประชาชน
ทั้งนี้ ถือเป็นการพัฒนาศักยภาพการปฏิบัติงาน เสริมสร้างความรู้ ติดอาวุธทางความคิด ให้กับกำลังพลได้เตรียมพร้อมในการปฏิบัติงานการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำความรู้ที่ได้รับกลับไปบูรณาการทำงานร่วมกันของภาครัฐที่หลอมรวมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สร้างความเชื่อมั่นศรัทธาแก่ประชาชน ภายใต้ข้อคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทุกศาสนา ทั้งภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ได้อย่างเป็นรูปธรรม