วันจันทร์, 23 ธันวาคม 2567

ผอ.ศปป.5 กอ.รมน. นำคณะสื่อมวลชนส่วนกลาง ดูงานรักษาความปลอดภัย ของ ร้อย.อส.รถไฟ เน้นประชาชนมีส่วนร่วม ระงับเหตุทุกเส้นทางรถไฟ จชต.

วันนี้ (21 กันยายน 2567) เวลา 10.00 น. ที่สถานีรถไฟยะลา ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา พลโท ธัชพล เปี่ยมวุฒิ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร นำคณะสื่อมวลชนส่วนกลาง ดูงานการขับเคลื่อนงาน ของกองร้อยปฏิบัติการพิเศษที่ 2 กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน กองร้อยกองอาสารักษาดินแดนรถไฟ ( ร้อย.อส.รถไฟ) โดยมี พันเอก อนุชา โนนคู่เขตโขง รองเลขาธิการ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า , หัวหน้าส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ

โดย นายประชานิวัฒน์ บัวศรี หัวหน้างานศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดชายแดนภาคใต้การรถไฟ เปิดเผยภาพรวมปัจจุบันภาพรวมสถานการณ์ความรุนแรง หรือการเกิดเหตุรอบวางระเบิด และการซุ่มยิงขบวนรถไฟลดลง ร้อยละ 80 ซึ่งปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้ความสำคัญและส่งเสริมกิจกรรมสำคัญทางศาสนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร สร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ เน้นการมีส่วนร่วมในชุมชน หมู่บ้านริมทางรถไฟ พร้อมทั้งดำเนินโครงการหลักสำคัญ 4 โครงการ คือ โครงการรถไฟห่วงใยศาสนา ซึ่งห้วงเดือนรอมฎอนของทุกปี จัดกิจกรรมมอบอินทผลัมแก่มัสยิดริมทางรถไฟในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่อำเภอจะนะ ไปจนถึงอำเภอสุไหงโก-ลก ตลอดเส้นทางรถไฟ , โครงการห่วงใยเยาวชน ด้วยการนำพาเด็กเยาวชนในพื้นที่เสี่ยงไปทัศนศึกษานอกห้องเรียนในพื้นที่ต่างๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเป็นประจำทุกปี, โครงการใช้พื้นที่ว่างเปล่าสองข้างริมทางรถไฟ 10 เมตร มอบให้ประชาชนริมทางรถไฟปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ,โครงการจัดหากล้องวงจรปิด CCTV ซึ่งดำเนินการติดตั้งกล้องวงจรปิดในรถไฟทุกขบวน พร้อมย้ำว่าจากสถิติการเกิดเหตุรุนแรงซ้ำซากใน 20 จุด ของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องจัดหาเทคโนโลยีที่ทันสมัย ( กล้องวงจรปิด CCTV ) เข้ามาหนุนเสริมการปฏิบัติหน้าที่ ลดการสูญเสียชีวิตแก่เจ้าหน้าที่ ยืนยันด้วยการบูรณาการทำงานของทุกภาคส่วนทั้ง ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และภาคประชาสังคม ร่วมกันดูแลรักษาความปลอดภัยเข้มงวด ควบคู่กับป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมบนขบวนรถไฟ ,การตรวจค้นจับกุมสิ่งของผิดกฎหมายบนขบวนรถไฟ ,ตรวจสอบบุคคลต่างด้าวที่โดยสารมาบนขบวนรถไฟ ตลอดจนรักษาความสงบเรียบร้อยภายในสถานีเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดเหตุประชาชนปลอดภัย ซึ่งเจ้าหน้าที่จะทำการลาดตระเวนเส้นทางรถไฟในพื้นที่เสี่ยง ก่อนที่รถไฟขบวนแรกจะออกให้บริการ โดยเฉพาะตั้งแต่สถานีรถไฟยะลา ถึงสถานีรถไฟสุไหงโก-ลก เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นป่าเขา

โอกาสนี้ พันเอก อนุชา โนนคู่เขตโขง ระบุว่าภายหลังการยุติบทบาทหน้าที่ตำรวจรถไฟ ไม่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย ยังเปิดให้บริการแก่พี่น้องประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ตามปกติ สำหรับมาตรการหลังจากนี้จะเข้มงวดมากขึ้น หากพบเบาะแสว่าจะมีการก่อเหตุตามขบวนรถไฟ โดยกำชับหน่วยเฉพาะกิจในพื้นที่บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและยกระดับแผนการรักษาความปลอดภัยเข้มงวด

สำหรับ กองร้อยกองอาสารักษาดินแดนรถไฟ (ร้อย.อส.รถไฟ) เป็นหน่วยในการควบคุมทางยุทธการ กับกองบังคับการควบคุมกองอาสารักษาดินแดน จังหวัดชายแดนภาคใต้ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า โดยมีหน้าที่ความรับผิดชอบจัดกำลังสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน รักษาความปลอดภัยบนขบวนรถไฟทุกขบวน ตั้งแต่สถานีรถไฟหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ผ่าน จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จนถึง สถานีรถไฟสุไหงโก-ลก อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ระยะทางประมาณ 270 กิโลเมตร ทุกขบวนต่อวัน ทั้งเที่ยวไปและเที่ยวกลับ จำนวน 35 สถานี