![](http://www.khawchawbannews.com/wp-content/uploads/2023/11/1-6-1024x683.jpg)
“ผศ.ดร.ภัทรพร ภักดีฉนวน” อาจารย์คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา รับโล่นักวิจัยดีเด่น สาขาเกษตรศาสตรและชีววิทยา จากผลงานคว้าวิจัยและถ่ายทอดองค์ความรู้การเก็บรวบรวมเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นเมือง ปลูกในแปลงอนุรักษ์ข้าวพื้นเมืองภาคใต้
![](http://www.khawchawbannews.com/wp-content/uploads/2023/11/400458798_742373287927806_2311553210614395653_n-1024x1024.jpg)
เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พันโท หม่อมเจ้านวพรรษ์ ยุคล เสด็จแทนพระองค์ เปิดการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ “ราชภัฏวิจัย ครั้งที่ 7” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-16 พฤศจิกายน 2566 ณ หอประชุมมหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ภายในงานมีการมอบรางวัลนักวิจัยดีเด่น ประจำปี 2566 ซึ่ง ผศ.ดร.ภัทรพร ภักดีฉนวน อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ได้รับคัดเลือกเป็นนักวิจัยดีเด่น สาขาเกษตรศาสตรและชีววิทยา โดยมี รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดี มรภ.สงขลา ดร.นราวดี บัวขวัญ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณะผู้บริหารของสถาบันวิจัยและพัฒนา ร่วมแสดงความยินดีและเดินทางเข้าร่วมงานประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติในครั้งนี้ด้วย
![](http://www.khawchawbannews.com/wp-content/uploads/2023/11/400573684_742373177927817_7191218068703359848_n-1000x1024.jpg)
ทั้งนี้ ผศ.ดร.ภัทรพร ภักดีฉนวน ได้ค้นคว้าศึกษาวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ผ่านการบริการวิชาการ ในการเก็บรวบรวมเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นเมืองและการคัดสายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองให้บริสุทธิ์ เพื่อช่วยเหลือชาวนาไทย โดยสามารถเก็บรวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นเมืองภาคใต้ที่ปลูกในแปลงเกษตรกรในอำเภอต่างๆ ในจังหวัดสงขลา และปลูกแสดงพันธุ์ข้าวพื้นเมืองดังกล่าวในแปลงอนุรักษ์ข้าวพื้นเมืองภาคได้ ณ บ้านสวนใต้ ตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เพื่อเป็นเหล่งเรียนรู้ของชุมชน ในช่วงปี 2563-2564
![](http://www.khawchawbannews.com/wp-content/uploads/2023/11/400685979_742373144594487_168074196382096222_n-1024x1024.jpg)
จากนั้นได้ส่งมอบเมล็ดข้าวพื้นเมืองให้หน่วยงานต่างๆ ได้แก่ 1. ศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติ กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2. ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม 3. สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ อาคารทรัพยากรพันธุกรรมพืชสิรินธร กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่ออนุรักษ์พันธุกรรมข้าวพื้นเมืองแบบระยะยาว นับเป็นการดำรงไว้ซึ่งทรัพยากรชีวภาพของประเทศไทย
![](http://www.khawchawbannews.com/wp-content/uploads/2023/11/401542987_742373251261143_4691580151984603037_n-1024x1024.jpg)