มรภ.สงขลา สุดปลื้ม “ผศ.ดร.ภัทรพร ภักดีฉนวน” อาจารย์คณะเทคโนโลยีการเกษตร เข้ารับเกียรติบัตรและเข็มเชิดชูเกียรติ รางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี 2565 เจ้าตัวเผยความภูมิใจตลอดการทำงาน 25 ปี ถือเป็นเกียรติยศสูงสุดครั้งหนึ่งของชีวิต พร้อมมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์องค์กรและประเทศชาติ
เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2566 ผศ.ดร.ภัทรพร ภักดีฉนวน อาจารย์คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เข้ารับเกียรติบัตรและเข็มเชิดชูเกียรติรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี 2565 จาก ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ณ กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวง อว. เนื่องในโอกาสวันข้าราชการพลเรือน (วันที่ 1 เมษายน ของทุกปี)
ผศ.ดร.ภัทรพร กล่าวถึงความรู้สึกต่อรางวัลที่ได้รับว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูงสุดครั้งหนึ่งของชีวิต ซึ่งเกียรติยศของการเป็นข้าราชการพลเรือนดีเด่น นับเป็นความภาคภูมิใจและเป็นศักดิ์ศรีต่อตนเองและวงศ์ตระกูล และพร้อมที่จะประพฤติปฏิบัติตนต่อไปเพื่อเป็นข้าราชการที่ดีด้วยจิตใจที่มั่นคงในความสุจริต และมุ่งมั่นตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ในความรับผิดชอบให้บรรลุผลสำเร็จเพื่อประโยชน์ขององค์กรและประเทศชาติ
ตลอด 25 ปีของชีวิตราชการตนมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงานอย่างเต็มความสามารถ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ทุ่มเท เสียสละ อดทน และพยายามพัฒนาตนเองโดยเพิ่มเติมความรู้และทักษะต่างๆอย่างสม่ำเสมอไม่ว่าจะอยู่ตำแหน่งใดหรือบทบาทหน้าที่ใด เพื่อให้งานในความรับผิดชอบประสบผลสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ ด้วยการเป็นครูอาจารย์มีหน้าที่หลักในการเป็นที่พึ่งของนักศึกษา จึงรับผิดชอบปฏิบัติหน้าที่ในการถ่ายทอดความรู้ พัฒนาทักษะ ส่งเสริมสนับสนุนคุณธรรมจริยธรรม สร้างสิ่งที่ดีและถูกต้องเหมาะสม เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้แก่นักศึกษา
นอกจากนั้น ด้วยภารกิจของมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น จึงได้บูรณาการการเรียนการสอน งานวิจัย ร่วมกับบริการวิชาการสู่ชุมชนภาคการเกษตร ด้วยบทบาทนี้ซึ่งต้องเป็นที่พึ่งของเกษตรกร จึงปฏิบัติงานด้วยสติปัญญา ใช้ทักษะและประสบการณ์อย่างเต็มที่เพื่อแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกรให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เมื่อมีปัญหาอุปสรรค ต้องพยายามหาทางแก้ไขอย่างถูกต้องและเหมาะสม
ทั้งนี้ ความภาคภูมิใจที่ได้ปฏิบัติงานบริการวิชาการตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามี 3 ประการสำคัญ ดังนี้ 1. ได้ส่งเสริมสนับสนุนให้นักศึกษามีจิตสาธารณะ ประยุกต์ใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์ ปฏิบัติงานด้วยความเสียสละ และที่สำคัญเห็นคุณค่าของชีวิตที่เสียสละต่อส่วนรวม 2. ได้ส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีเพื่อการพึ่งพาตนเองของเกษตรกร และ 3. ได้เก็บรวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นเมืองภาคใต้ที่ปลูกในแปลงเกษตรกรในอำเภอต่างๆ ในจังหวัดสงขลา จำนวน 30 สายพันธุ์ ส่งมอบให้ธนาคารพันธุกรรมพืชขององค์กรภาครัฐเพื่ออนุรักษ์พันธุกรรมข้าวพื้นเมืองแบบระยะยาว นับเป็นการดำรงไว้ซึ่งทรัพยากรชีวภาพของประเทศไทย