
วันนี้ (24 เมษายน 2568) เวลา 09.30 น. ที่ สโมสรนายทหารสัญญาบัตร กองพลทหารราบที่ 15 ค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี พลโท ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เป็นประธานการประชุมหน่วยขึ้นตรง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (วาระพิเศษ) เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ และร่วมปรับแผนยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ โดยมี พลตำรวจตรี วราห์ เวชชาภินันท์ รองผู้บัญชาการกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้, พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และนายสุพจน์ รอดเรือง ณ หนองคาย รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดยะลาร่วมประชุมพร้อมส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมบูรณาการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ครอบคลุมในทุกมิติ

ทั้งนี้หลังเสร็จสิ้นการประชุมหน่วยขึ้นตรง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (วาระพิเศษ) ได้มีการแถลงข่าวชี้แจงถึงแผน และมาตรการยกระดับการรักษาความปลอดภัย และการปฏิบัติงานของหน่วยต่างๆในพื้นที่

โดยพลโท ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลงานด้านความมั่นคง ได้เปิดเผยว่า สถานการณ์ในพื้นที่ยังคงมีความพยายามสร้างเหตุความรุนแรงจากกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง โดยแม่ทัพภาคที่ 4 ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่ด้วยความใกล้ชิด ห่วงใยประชาชน และดำเนินการตามกรอบของกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นอาจเป็นผลจากการบิดเบือนข้อมูลของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งใช้เป็นเงื่อนไขในการกระทำความรุนแรง โดยในนามของฝ่ายความมั่นคงขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ พร้อมยืนยันว่าจะเร่งติดตามตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายโดยเร็ว ในส่วนของกรณีการบิดเบือนข้อมูลทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนปฏิบัติงานตามหลักกฎหมายอย่างเคร่งครัด ควบคู่กับการทำการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทุกกลุ่ม พร้อมกันนี้ขอประณามการกระทำรุนแรงที่มุ่งเป้าทำร้ายพี่น้องชาวไทยพุทธ ชาวไทยมุสลิม และพระสงฆ์ ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ขัดต่อหลักศาสนา และเป็นอาชญากรรมที่ต้องถูกลงโทษ ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ได้รวบรวมพยานหลักฐาน และเบาะแสจากประชาชนในพื้นที่ที่ไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง เพื่อเร่งนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยเร็ว

นอกจากนี้ พลโท ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ยังได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะทหาร ตำรวจ และพลเรือน ฝ่ายปกครอง แต่มีการทบทวนปรับแผนยกระดับรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางเป้าหมายอ่อนแอ ที่ต้องได้รับการดูแลโดยให้ปรับแผนการปฎิบัติงานเชิงรุก ซึ่งที่ผ่านมาทุกหน่วยงานในพื้นที่ได้ร่วมมือกันบูรณาการปฏิบัติหน้าที่ตามแผนงานนโยบายของรัฐบาลอย่างเต็มที่ เพื่อบรรลุเป้าหมายสำคัญคือการสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน

ด้านพลตำรวจตรี วรา เวชชาภินันท์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 กล่าวว่า ในส่วนของกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้มีหน้าที่หลักในการบังคับใช้กฎหมายการตรวจค้นจับกุมจำกัดเสรีของฝ่ายตรงข้ามสำหรับคดีที่เกิดขึ้นมีการรวบรวมพยานหลักฐานไม่ว่าจะเป็นหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ซึ่งในหลายคดีที่เกิดขึ้นมีข้อมูล ทั้ง ดีเอ็นเอ มีหลักฐาน พอสมควรรวมไปถึงยังได้รวบรวมหลักฐานจากกล้องวงจรปิด ควบคู่กับการปฏิบัติการเชิงรุกในการจำกัดเสรี โดยเฉพาะบุคคลที่มีหมายจับ ได้เข้าไปดำเนินการเข้าไปบังคับใช้กฎหมายเพื่อดำเนินการเข้าสู่กระบวนการตามกฏหมาย และในช่วงที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นบ่อยครั้งแต่มีการปรับแผนการปฎิบัติงาน โดยเฉพาะการรักษาความปลอดภัยประชาชนกลุ่มเป้าหมายเปราะบาง ซึ่งเป็นไปตามข้อสั่งการของแม่ทัพภาคที่ 4 /ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ในการดูแลรักษาความปลอดภัยประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเมืองเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น ครู พระสงฆ์ ผู้นำศาสนา กลุ่มเปราะบาง ทางหน่วยได้มีการรักษาความปลอดภัยตั้งด่านตรวจตลอด 24 ชั่วโมง มีจุดตรวจ Pop-Up ด่านลอยต่างๆไม่เป็นเวลาประจำเพื่อสุ่มตรวจบุคคลรถยนต์รวมไปถึงยังมีมาตรการในพื้นที่เซฟตี้โซนมีการปรับเปลี่ยนมาตรการต่างๆเพื่อให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้นในการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่
ในส่วนของ พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยถึงการดูแลการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ บทบาทในการส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรมท่ามกลางความพยายามสร้างความแตกแยกทางศาสนา ว่า แนวทางของ ศอ.บต. มุ่งเน้นเรื่องความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และยั่งยื่น ตลอดจนการสร้างความเข้าใจและความร่วมมือระหว่างไทยพุทธและมุสลิม บนพื้นฐานของความเท่าเทียมและการยอมรับความหลากหลาย ซึ่งเป็นรากฐานของสังคมพหุวัฒนธรรมที่มั่นคง การป้องกันความแตกแยกต้องอาศัยการสื่อสารที่สร้างสรรค์ ความจริงใจจากรัฐ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้น การเยียวยาในเชิงจิตใจและสังคม เป็นสิ่งสำคัญมาก ศอ.บต. ให้ความสำคัญกับการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบ ไม่เพียงในด้านกายภาพหรือเศรษฐกิจเท่านั้น แต่รวมถึงด้านจิตใจ โดยการจัดกิจกรรมเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เช่น การพูดคุยการจัดเวทีชุมชน และการเยี่ยมเยียนครอบครัวผู้สูญเสียทั้งไทยพุทธ และมุสลิมได้ดูแลอย่างเท่าเทียม

เช่นเดียวกับ นายสุพจน์ รอดเรือง ณ หนองคาย รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่า ฝ่ายปกครองยังคงมุ่งเน้นให้ความปลอดภัยแก่ชุมชนและประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ ทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองระดับอำเภอ เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์และป้องกันเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้น พร้อมทั้งเสริมสร้างขีดความสามารถของกำลังพล ควบคู่กับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแส เพื่อสร้างความมั่นคงและความเชื่อมั่นในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน

สำหรับการประชุมหน่วยขึ้นตรงกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า(วาระพิเศษ) สืบเนื่องจากที่ผ่านมาได้มีเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้นำศาสนา ครู พระสงฆ์ และประชาชน ซึ่งล้วนเป็นกลุ่มเปราะบางหรือเป้าหมายอ่อนแอ ที่ต้องได้รับการดูแลในเรื่องความปลอดภัย เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจ ต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพื่อป้องกันการก่อเหตุความรุนแรง ทั้งนี้ต้องมีการปรับแผนและยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยเพื่อลดช่องว่างการก่อเหตุ และเพิ่มมาตรการความปลอดภัยให้ประชาชนมีความอุ่นใจ ซึ่งการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ได้คำนึงถึงหลักสิทธิเยาวชน และปฏิบัติตามหลักกรอบของกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อมุ่งสู่การแก้ไขปัญหาความรุนแรงสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างยั่งยืน โดยใช้การบูรณาการแก้ไขปัญหาจากทุกภาคส่วนในพื้นที่