นิเทศ มรภ.สงขลา คว้า 4 รางวัลระดับประเทศ ประกวดสายฟ้าน้อย ผลงานสุดเจ๋ง 5 ปีกวาด 16 โล่เกียรติยศ

นิเทศศาสตร์ มรภ.สงขลา สุดเจ๋ง กวาด 4 โล่รางวัลระดับประเทศ เข้ารอบสุดท้ายสูงสุด 6 ทีม เวทีประกวดสารคดีเชิงข่าว สายฟ้าน้อย ครั้งที่ 15 คว้าเงินรางวัลรวม 45,000 บาท ชี้เป็นแบบฝึกหัดชั้นดีสำหรับนักศึกษา สุดปลื้มผลงานตลอด 5 ปี คว้า 16 โล่เกียรติยศ พร้อมเดินหน้าพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง

ดร.ศุภฤกษ์ เวศยาสิรินทร์ อาจารย์ประจำหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ที่ผ่านมา นักศึกษานิเทศศาสตร์ มรภ.สงขลา เข้ารับโล่รางวัลระดับประเทศ รวม 4 รางวัล และเข้ารอบสุดท้ายสูงสุด 6 ทีม มากที่สุดในประเทศ ได้รับเงินรางวัลรวม 45,000 บาท จากการประกวดสารคดีเชิงข่าว สายฟ้าน้อย ครั้งที่ 15 จัดโดยสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สนับสนุนโดย บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยรางวัลต่างๆ ที่ มรภ.สงขลา ได้รับมีดังนี้ สารคดีเชิงข่าววิทยุโทรทัศน์ 3 รางวัล ได้แก่ 1. ประเภทวิถีชุมชน รางวัลดีเด่น จากผลงานเรื่อง “วิสาหกิจชุมชนอ่านปากบารา” ได้รับโล่ เงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร 2. ประเภทสิ่งแวดล้อม รางวัลชมเชย จากผลงานเรื่อง “นกเงือก” ได้รับโล่ เงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร 3. ประเภทอัตลักษณ์วัฒนธรรม รางวัลชมเชย ได้รับโล่ เงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร และผ่านเข้ารอบสุดท้าย 2 ทีม รับเกียรติบัตร ได้แก่ ประเภทข่าวทั่วไปและประเภทอัตลักษณ์วัฒนธรรม สารคดีเชิงข่าววิทยุกระจายเสียง ได้รับรางวัลชมเชย จากผลงานเรื่อง “ภัยเงียบยุค 4.0 การเลี้ยงลูกด้วยหน้าจอมือถือ” รับโล่ เงินรางวัล 5,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร

ดร.ศุภฤกษ์ กล่าวว่า ภายในระยะเวลา 5 ปี นิเทศศาสตร์ มรภ.สงขลา ได้รับรางวัลสายฟ้าน้อยจากการประกวดสารคดีเชิงข่าววิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ รวม 16 โล่เกียรติยศ ถือเป็นหนึ่งในรายการประกวดที่ทางหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต รู้สึกภาคภูมิใจ นอกจากนั้น มรภ.สงขลา ยังสามารถครองแชมป์โล่รางวัลเกียรติยศ 3 ปีซ้อน ถือเป็นการแข่งขันสำหรับนักศึกษาสายนิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชนจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ โดยในแต่ละปีจะมีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมแข่งขันมากกว่า 20 แห่งในแต่ละประเภท ซึ่งการผลิตสารคดีเชิงข่าววิทยุ-โทรทัศน์ ถือเป็นจุดแข็งที่นิเทศศาสตร์ มรภ.สงขลา ค้นพบ และพัฒนาตนเองตลอดเวลา รายการประกวดนี้จึงถือเป็นแบบฝึกหัดชั้นดีสำหรับนักศึกษานิเทศศาสตร์อีก 1 รายการ

“ในช่วงเวลา 5 ปีนี้เราส่งผลงานอย่างต่อเนื่อง และรักษาคุณภาพงานเสมอมา เนื่องจากมีการวิพากษ์งานจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมืออาชีพจากสถานีโทรทัศน์ต่างๆ และนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์อย่างหลากหลาย การวิจารณ์งานแบบตรงไปตรงมาทำให้เราได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นจุดเด่นของพวกเราในการเรียนการสอนในแบบของนิเทศศาสตร์ราชภัฏสงขลา” อาจารย์ประจำหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิตมรภ.สงขลา กล่าว