วันจันทร์, 30 ธันวาคม 2567

นิพนธ์ ลุยราชบุรีมอบสมุดประจำตัวผู้ได้รับการคัดเลือกให้ทำกินในชุมชน (คทช.) เพื่อแก้ไขปัญหาไม่มีที่ดินทำกิน พ่วงตรวจแหล่งน้ำหลักแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 23 มีนาคม 2565 ที่ห้องประชุมกัลปพฤกษ์ อาคารราชบุรีเกมส์ ศาลากลางจังหวัดราชบุรี นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีมอบสมุดประจำตัว ผู้ได้รับการคัดเลือกให้ทำกินในชุมชน ตามนโยบายรัฐบาลในลักษณะแปลงรวมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าเขากรวดและป่าเขาพลอง” ตำบลหินกอง อำเภอเมืองราชบุรี และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าเขาบิน” ตำบลปากช่อง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี โดยมี นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน นายรณภพ เหลืองไพโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี รองผู้ว่าราชการจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดราชบุรี หัวหน้าส่วนราชการ และประชาชนผู้รับมอบ จำนวน 147 ราย เข้าร่วมพิธีฯ ภายใต้การปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด

โครงการจัดที่ดินทำกินภายใต้นโยบายของรัฐบาล (คทช.) เป็นกลไกขับเคลื่อนนโยบายและแผนบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินให้แก่ผู้ยากไร้ที่เกี่ยวข้อง มีการพิจารณาข้อมูลพื้นที่ เพื่อคัดเลือกและกำหนดพื้นที่เป้าหมายและดำเนินการจัดที่ดินให้แก่ราษฎร สำหรับที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าเขากรวด และ ป่าเขาพลอง” ตำบลหินกอง อำเภอเมืองราชบุรี และป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าเขาหิน” ตำบลปากช่อง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี เป็นพื้นที่ที่มีราษฎรครอบครองอยู่อาศัยและทำกิน โดยจัดให้ได้รับที่ดินทำกิน/ที่อยู่อาศัย รายละไม่เกิน 20 ไร่ ซึ่งคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัดราชบุรี ได้รับมอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าเขากรวดและป่าเขาพลอง” ตำบลหินกอง อำเภอเมืองราชบุรี เนื้อที่ 104 ไร่ 1 งาน 44 ตารางวา และป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าเขาบิน” ท้องที่ตำบลปากช่อง อำเภอจอมบึง จำนวนเนื้อที่ 199 ไร่ 3 งาน 93 ตารางวา เพื่อนำมาจัดที่ดิน ตามนโยบายของ โดยในวันนี้ มีผู้รับมอบสมุดประจำตัว จำนวน 147 ราย พื้นที่รวมทั้งสิ้น 156 แปลง

นายนิพนธ์ กล่าวว่า รัฐบาลต้องการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกิน หรือมีที่ดินแต่ไม่เพียงพอ ช่วยให้มีที่ดินทำกินอย่างถูกต้อง จัดสรรให้ประชาชนที่ด้อยโอกาสอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เพื่อเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้ประชาชนมีความมั่นคงในการดำรงชีวิต การดำเนินงานของ คทช.จังหวัด เพื่อจัดที่ดินทำกินให้กับชุมชนในครั้งนี้ เป็นการประสานความร่วมมือที่มีการทำงานร่วมกันแบบไร้รอยต่อระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งเมื่อประชาชนได้ที่ดิน ได้สิทธิในที่ดิน ถึงแม้ว่าจะ ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน แต่จะเป็นการสร้างความมั่นใจในการทำกินให้กับชุมชน สามารถทำกินในที่ดินผืนดังกล่าวได้โดยถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย

นอกจากโครงการดังกล่าว กรมที่ดินยังได้ดำเนินโครงการ บอกดิน 3 สร้างโอกาสการถือครองที่ดิน โดยเปิดให้ประชาชนแจ้งข้อมูลและตำแหน่งที่ตั้งที่ดินของตนเอง ก่อนกรมที่ดินจะเดินสำรวจแลเออกโฉนดที่ดินต่อไป นอกจากนี้ กรมที่ดินยังได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนาระบบการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมแบบออนไลน์ต่างสำนักงานที่ดิน เริ่มต้นดำเนินโครงการในสำนักงานเขต 17 แห่ง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภายใต้โครงการ “ คนกรุงสบาย จดทะเบียนที่ดินออนไลน์ ใกล้บ้าน” โดยตนมองว่า จะสามารถขยายพื้นที่บริการไปได้อีกมากมายในอนาคต

นายนิพนธ์ กล่าวทิ้งท้าย ขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการจัดที่ดินทำกินให้ประชาชนในครั้งนี้ โดยเน้นย้ำเรื่องการบูรณาการการทำงานร่วมกันต่อไปอย่างเหนียวแน่น เพราะท้องถิ่น ท้องที่ เป็นกลไกสำคัญของกระทรวงมหาดไทยในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้แก่พี่น้องประชาชน ตนได้ให้ความสำคัญกับเรื่องที่ดินทำกินเป็นอย่างมาก เพราะถือว่าเป็นความมั่นคงในขีวิตของประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ประชาชนไม่ต้องเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกที่ดินของทางราชการ สามารถนำโฉนดที่ดินไปประกอบการพัฒนาในอาชีพของตนเอง เพิ่มผลผลิตและรายได้เลี้ยงชีพครอบครัวต่อไป นายนิพนธ์ กล่าวทิ้งท้าย

หลังจากนั้นเวลา 16.00 น. ได้เดินทางไปยังบึงกาจับ และบึงวังมะนาว ตำบลบ้านม่วง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี รับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่บึงกาจับ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ตำบลบ้านม่วง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี มีพื้นที่ 650 ไร่ สภาพพื้นที่เป็นพื้นที่รายลุ่มริมน้ำ โดยมีคลองทิ้งน้ำ 3 สาย ไหลลงบึง ซึ่งไหลออกทางเดียวผ่านตำบลชำแระ อำเภอโพธาราม ผ่านตำบลธรรมเสน และผ่านคลองบางสองร้อย ก่อนลงสู่แม่น้ำแม่กลอง และในส่วนของบึงมะนาว มีพื้นที่จำนวน 286 ไร่ 1 งาน 61 ตารางวา

นายนิพนธ์ กล่าวว่า บึงกาจับและบึงมะนาวเป็นบึงที่มีขนาดใหญ่มาก หากจะพัฒนาจำเป็นต้องบูรณาการร่วมกันทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นกรมชลประทาน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น รวมถึงท้องที่ ต้องแก้ปัญหาในระยะยาว โดยปรับแผนพัฒนาท้องถิ่นของ อบต.บ้านม่วง โดยอาจแบ่งการดำเนินการเป็น 3 ระยะ ซึ่งหากสามารถดำเนินการพัฒนาบึงสองแห่งนี้ได้ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการรองรับน้ำในฤดูน้ำหลาก การชะลอการไหลของน้ำ รวมถึงการเก็บน้ำในยามหน้าแล้ง เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคและการเกษตร นอกจากนั้น บริเวณดังกล่าว ด้วยขนาดของพื้นที่และบรรยากาศโดยรวม ที่นี่ยังเหมาะที่จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว สวนสาธารณะต่างๆ ได้อีกด้วย ซึ่งตนมองว่าหากสามารถพัฒนาบึงดังกล่าวได้ไม่เฉพาะตำบลบ้านม่วงเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์