
เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2565 ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมงานการสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 15 “ทศวรรษใหม่ วิถีใหม่ ขับขี่ปลอดภัยต้องมาก่อน” พร้อมปาฐกถาเรื่อง “วิถีใหม่ มุ่งสู่ระบบแห่งความปลอดภัยทุกระดับ” โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานฯ

พร้อมด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้าร่วม ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายป้องกันอุบัติเหตุทางถนน

จากนั้นในภาคบ่าย นายนิพนธ์ ได้กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า อุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาที่สำคัญที่ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนความสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเป็นอย่างมาก ข้อมูลจากองค์กรอนามัยโลกในปี 2559 พบสถิติคนไทยเสียชีวิตบนท้องถนนกว่า 22,400 ราย ซึ่งหากเปรียบเทียบกับสงคราม หรือเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว 6,000 กว่าราย แต่อุบัติเหตุการเสียชีวิตบนท้องถนนแค่ปีเดียวกลับมียอดสูงถึง 20,000 กว่าราย ฉะนั้น ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนจึงถือเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไม่ใช่ปัญหาเฉพาะถิ่น การที่เราช่วยกันกำหนดมาตรการเพื่อที่ให้การสูญเสียบนท้องถนนลดลง จึงเป็นการทำบุญใหญ่ให้กับประเทศ ไม่มีบุญไหนใหญ่และสำคัญไปกว่าบุญที่ช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์ ถ้าเราสามารถลดการเสียชีวิตได้มากเท่าไหร่ เท่ากับเราทำบุญให้กับเพื่อนมนุษย์มากเท่านั้น รัฐบาลมีเป้าหมายเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลงให้ได้ครึ่งหนึ่ง จึงกำหนดเป้าหมายที่ท้าทาย เพื่อให้หน่วยงานด้านความปลอดภัยทางถนนนำไปดำเนินการ โดยมุ่งหวังให้บรรลุเป้าหมายในการลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุไม่เกิน 12 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน ภายในปี พ.ศ. 2570

ทั้งนี้แผนปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนน ได้กำหนดจุดเน้นให้กลไกจัดการระดับพื้นที่ โดยเฉพาะกลไกท้องถิ่นและท้องที่ถือเป็นหัวใจสำคัญที่เป็นจุดเริ่มต้นของวงจรแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในระดับพื้นที่ในการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการปัญหามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของจังหวัด ที่ขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัด เร่งรัดการดำเนินการจัดตั้งศปถ.อปท.ให้ครบถ้วน เพื่อให้มีกลไกในการดูแลพื้นที่อย่างทั่วถึง และผลักดันให้เกิด “ตำบลขับขี่ปลอดภัย” ทั่วประเทศ เนื่องจากการทำงานระดับพื้นที่จะมีความใกล้ชิดกับปัญหามากที่สุด และเป็นจุดสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในระดับอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฉะนั้น สิ่งที่ควรเร่งดำเนินการ คือ การพัฒนาศักยภาพคณะทำงานท้องถิ่นให้มีทักษะ ความรู้ ความสามารถในการขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยทางถนน

“ ความปลอดภัยทุกระดับเป็นกลไกสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความปลอดภัยระดับตำบล เพราะถ้าเราทำให้ตำบล ทุกหมู่บ้านในประเทศไทยมีความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนได้ ประเทศจะไม่ต้องมาเสียใจว่ามีคนเสียชีวิตบนท้องถนนจำนวนมาก เพราะถ้าตำบลทำได้ อำเภอ จังหวัด ประเทศ ก็จะมีความปลอดภัยตามไปด้วย นี้คือโจทย์ข้อใหญ่ที่เราทุกคนต้องร่วมทำด้วยกัน โดยมุ่งเป้าไปที่องค์กรเล็กที่สุดคือตำบล ดังนั้นการที่จะให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมจึงเป็นสิ่งจำเป็น วันนี้ตำบลขับขี่ปลอดภัย ถ้าสามารถทําให้ทุกตำบลในประเทศไทยปลอดภัย ประเทศก็จะสามารถขับขี่ปลอดภัย อย่างน้อยให้การเกิดอุบัติเหตุจากการสูญเสียลดลง” นายนิพนธ์กล่าว

